กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แจงมติที่ประชุมคณะกรรมการสถานพยาบาล ที่ให้ยาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพยาบาล ยังไม่ใช่ข้อยุติ จนกว่าที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเห็นชอบ ยันยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ไม่เคยห้ามผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อยานอกสถานพยาบาล เพราะเป็นสิทธิผู้ป่วย
จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสถานพยาบาล มีมติให้ยาที่ใช้ในสถานพยาบาล เป็นหนึ่งในมาตรฐานการรักษาพยาบาล ที่จะต้องสั่งจ่ายตามการวินิจฉัยของแพทย์ ไม่สามารถแยกซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป
ล่าสุดวันที่ 18 ก.พ. 2562 ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้จัดแถลงข่าวชี้แจงถึงกรณีการแยกค่ายาออกจากค่ารักษาพยาบาล
โดย นพ.ณัฐวุฒิชี้แจงว่า ในปี พ.ศ.2562 คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กระทรวงพาณิชย์ มีมติให้เพิ่มรายการสินค้าและบริการในบัญชีสินค้าควบคุม จำนวน 1 รายการ คือ ยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ซึ่งในปัจจุบันราคายาและเวชภัณฑ์ได้มีการกำหนดอย่างชัดเจนแล้วว่าห้ามจำหน่ายเกินราคาที่แสดงบนผลิตภัณฑ์
แต่ในส่วนบริการทางการแพทย์ ยังมิได้กำหนด มีเพียงมาตรการในเบื้องต้น ที่ให้สถานพยาบาลจะต้องติดป้ายแสดงราคาบริการและมีจุดให้ผู้รับบริการสอบถามรายละเอียดได้ ดังนั้น กกร.จึงได้แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการยาและเวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล” ขึ้น
โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรม สบส. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือสมาคมประกันชีวิตไทย ฯลฯ ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมราคาสินค้าหรือบริการ
กรม สบส.ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำกับ ดูแล คุณภาพ มาตรฐาน ของสถานพยาบาลเอกชน จึงได้จัดประชุมคณะกรรมการสถานพยาบาล เพื่อร่วมพิจารณาให้ความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งที่ประชุมฯ มีมติเบื้องต้น ดังนี้
1) ยาในสถานพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของบริการทางการแพทย์
2) การนำใบสั่งยาไปซื้อยานอกสถานพยาบาลเป็นสิทธิที่ผู้ป่วยสามารถกระทำได้
ซึ่งตามมติที่ประชุมข้างต้น มิได้ห้ามผู้ป่วยแยกซื้อยาจากร้านขายยาแต่อย่างใด เพราะเป็นสิทธิของผู้ป่วย อย่างไรตาม มติดังกล่าวยังมิได้เป็นข้อยุติหรือข้อบังคับ จนกว่าที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการว่าจะพิจารณาเห็นชอบ ให้ใช้เป็นมาตรการดำเนินการควบคุมราคายาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ต่อไป
ทั้งนี้ ตนขอยืนยันว่ากรม สบส.มีนโยบายการดำเนินงานที่มุ่งประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ไม่ว่าผู้ประกอบการหรือผู้รับบริการ ต่างจะต้องได้รับความเป็นธรรม ทั้งในด้านค่ารักษาพยาบาลที่มีความเหมาะสม บริการทางการแพทย์และกระบวนการรักษาพยาบาลเป็นมีคุณภาพ มาตรฐาน และมีความปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด