ลำดับเหตุการณ์ ล่าสัตว์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค

ลำดับเหตุการณ์ล่าสัตว์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค ซึ่งเบื้องต้นผู้ที่ถูกจับกุมขู่จะฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ ย้อนไปเมื่อวันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2561 เวลาประมาณ 20.00 น. หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค ได้รับรายงานจากหัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ ที่ ทย.๖ (เขาพลู) ว่า…

Home / NEWS / ลำดับเหตุการณ์ ล่าสัตว์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค

ลำดับเหตุการณ์ล่าสัตว์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค ซึ่งเบื้องต้นผู้ที่ถูกจับกุมขู่จะฟ้องกลับเจ้าหน้าที่

ย้อนไปเมื่อวันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2561 เวลาประมาณ 20.00 น. หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค ได้รับรายงานจากหัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ ที่ ทย.๖ (เขาพลู) ว่า มีรถยนต์ออฟโรด จำนวน 6 คัน แอบอ้างว่าได้รับอนุญาตจากห้วหน้าหน่วยฯ ให้เข้าไปพักค้างแรมในพื้นที่ป่าบริเวณสำนักสงฆ์เต่าดำ ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค

โดยนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาวุธปืนเข้าไปด้วย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค จึงเรียกระดมกำลังเจ้าหน้าที่ติดตามเข้าไปในพื้นที่

ต่อมาเวลาประมาณ 11.30 น. ของวันที่ 7 ตุลาคม คณะเจ้าหน้าที่พบรถยนต์ออฟโรดทั้ง 6 คัน กำลังเดินทางออกมาจากพื้นที่ดังกล่าว จึงแสดงตัวและขอตรวจค้น พบว่า มีผู้โดยสารเข้าไปพร้อมกับรถยนต์ทั้ง 6 คัน รวม 15 คน โดยเป็นเด็ก 3 คน ตรวจค้นรถยนต์เบื้องต้น พบอาวุธปืนไรเฟิลติดกล้อง พร้อมเครื่องเก็บเสียง จำนวน 1 กระบอก ปืนสั้นขนาด 9 มม. จำนวน 1 กระบอก อุ้งตีนหมีขอ จำนวน 4 เท้า

ในรถยนต์คันที่ 5 หมายเลขทะเบียน 2 ฒง 3555 กรุงเทพมหานคร มีนายอนุสรณ์ เรือนงาม แจ้งว่า เป็น อส.เมืองกาญจนบุรี เป็นผู้ขับขี่ ขณะตรวจค้นมีชาย 1 คน มาแสดงตัวว่าเป็นปลัดอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมขบวนมาด้วย โดยอยู่ในคันที่ 1 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงเชิญคนทั้งหมดพร้อมรถยนต์ไปทำบันทึกตรวจยึดจับกุม ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติไทรโยค

หลังจากนั้นเวลาประมาณ 17.30 น. วันที่ 7 ตุลาคม คณะเจ้าหน้าที่พร้อมผู้กระทำผิดเดินทางมาถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติไทรโยค ปลัดอำเภอฯ ทราบชื่อภายหลัง คือ นายวัชรชัย สมีรักษ์ ไม่ยินยอมให้ค้นตัวและไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แตะต้องตัวพร้อมขู่จะฟ้องกลับ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค จึงประสานเจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย รส.ในพื้นที่ พร้อมพนักงานสอบสวน สภ.ไทรโยค เข้าใช้อำนาจในการค้นตัว และยึดอาวุธปืน

สำหรับหมีขอ เป็นสัตว์ตระกูลชะมด หรืออีเห็น มีลักษณะคล้ายหมี มีขนยาวหนา เส้นขนหยาบมีสีดำ หน้าคล้ายหมี รูปร่างอุ้ยอ้าย มีหางยาว สามารถใช้หางจับเกาะต้นไม้แทนมือได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535