ทางออกแก้กฎหมายลดปัญหา “นักโทษล้นคุก” หลังพบประเทศไทยมีผู้ต้องขังมากที่สุดติดอันดับ 6 ของโลก
ปัญหานักโทษล้นคุก เป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามแก้ไข โดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ หน่วยงานโดยตรงที่รับผิดชอบนักโทษกว่า 3 แสน 7 หมื่นคน กลายเป็นปัญหาลูกโซ่ที่ส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องสุขอนามัย และสุขภาพจิตของผู้ต้องขัง โดยหลายฝ่ายพยายามเสนอให้มีการปรับแก้กฎหมาย เพื่อลดผู้กระทำผิดในระบบ
เบื้องหลังกำแพงรั้วลวดหนามไฟฟ้า ที่สูงถึง 6 เมตรของเรือนจำกลางนครปฐม คือพื้นที่อยู่อาศัยของคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกจองจำอิสรภาพ หลังถูกพิพากษาทางกฎหมายว่าพวกเขากระทำความผิด ภายในเรือนจำถูกจัดสรรเป็นโซนต่างๆ อย่างเป็นสัดส่วน ทั้งเรือนนอน โรงอาหาร ห้องพยาบาล ตลอดทางเดินเชื่อมต่อแต่ละโซนคุมขัง จะมีรั้วกั้นแบ่งพื้นที่อย่างชัดเจน
แต่หากย้อนดูสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังภายในเรือนจำทั่วประเทศ กลับพบว่าค่อนข้างแออัด เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ต้องขังรวมกันทั้งหมดกว่า 370,000 คน แต่เรือนจำสามารถรองรับได้เพียงประมาณ 120,000 กว่าคน เท่ากับว่ามีจำนวนผู้ต้องขังเกินมาเกือบ 3 เท่า สูงกว่าขีดความสามารถในการรองรับ ทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นคุก
จากข้อมูลสถิติกรมราชทัณฑ์ พบว่าประเทศไทยมีผู้ต้องขังมากที่สุดติดอันดับ 6 ของโลก ขณะที่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของอาเซียน โดยหากแยกตามคดีพบเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติดมากที่สุด
ความแออัดในเรือนจำ สุ่มเสี่ยงต่อการระบาดของโรคต่างๆ โดยเฉพาะวัณโรค ที่ผ่านมาเรือนจำได้ทำห้องแยกผู้ต้องขังป่วยวัณโรคออกจากผู้ต้องขังปกติ ซึ่งผู้ต้องขังกลุ่มนี้จะทำกิจกรรมเฉพาะในกลุ่มเท่านั้น ถือเป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ เช่นเดียวกับโรคติดต่ออื่นๆ แม้ล่าสุดสถิติผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว จาก 1,500 กว่าคน เป็นเกือบ 4,000 คน
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า อาหารการกินก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญเพื่อส่งเสริมสุขภาวะผู้ต้องขัง ซึ่งเรือนจำกลางนครปฐมแห่งนี้เน้นย้ำเรื่องความสะอาดและเรื่องโภชนาการ โดยที่ผู้ต้องขังจะได้รับอาหารอย่างเท่าเทียมกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และคงไว้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังควรได้รับ
ก่อนหน้านี้กระทรวงยุติธรรม เคยออกมาเสนอแนวทางแก้ปัญหานักโทษล้นคุกว่าควรกลับมาทบทวนอย่างจริงจังถึงมาตรการลงโทษอาญา ซึ่งประเทศไทยเน้นการลงโทษจำคุกมากเกินไป ทำให้จำนวนผู้ต้องขังของประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่นายทวี ชูทรัพย์ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เสนอว่า การตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษผู้ต้องกักขังแทนค่าปรับ จะช่วยลดจำนวนผู้ต้องขังได้จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องปล่อยผู้ต้องขังทุกคน เพราะในกฤษฎีกาอภัยโทษมีอีกมาตราที่กำหนดให้ช่วยลดโทษให้ผู้ต้องขัง โดยผู้ต้องขังที่ถูกปล่อย คือผู้ต้องขังที่พิการ ชราภาพเท่านั้น
ข่าวโมโน 29 รายงาน