ตึกตู้ปลา ธรรมศาสตร์

คณบดี บัญชี มธ. ชี้ทำตามขั้นตอนกฎระเบียบ กรณีปรับปรุง ‘ตึกตู้ปลา’ ร่วมกับเอกชน

คณบดี บัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงกรณีปรับปรุง ‘ตึกตู้ปลา’ ร่วมกับธนาคารแห่งหนึ่ง หลังตัวแทนคณาจารย์ออกมาคัดค้านและขอดูเอกสารสัญญา ชี้ทำตามขั้นตอนโปร่งใส ประชาคมมีส่วนร่วม ถูกต้องชัดเจนตามระเบียบและกฎหมาย พร้อมให้ตรวจสอบ จากกรณีกระแสข่าวการปรับปรุง ‘ตึกตู้ปลา’ ของ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี…

Home / NEWS / คณบดี บัญชี มธ. ชี้ทำตามขั้นตอนกฎระเบียบ กรณีปรับปรุง ‘ตึกตู้ปลา’ ร่วมกับเอกชน

คณบดี บัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงกรณีปรับปรุง ‘ตึกตู้ปลา’ ร่วมกับธนาคารแห่งหนึ่ง หลังตัวแทนคณาจารย์ออกมาคัดค้านและขอดูเอกสารสัญญา ชี้ทำตามขั้นตอนโปร่งใส ประชาคมมีส่วนร่วม ถูกต้องชัดเจนตามระเบียบและกฎหมาย พร้อมให้ตรวจสอบ

จากกรณีกระแสข่าวการปรับปรุง ‘ตึกตู้ปลา’ ของ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่มีตัวแทนคณาจารย์ออกมาคัดค้านการเข้าใช้พื้นที่ เนื่องจากเป็นการดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่ ธนาคารไทยพานณิชย์ และ ร้านกาแฟ Too Fast Too Sleep ซึ่งไม่ใช่รูปแบบที่ผ่านความเห็นประชาคม และพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่บนที่ดินและอาคารราชพัสดุของหน่วยงานรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาเป็นการเฉพาะไม่ใช่เชิงพาณิชย์ จนเกิดเป็นข้อโต้แย้งอยู่ในขณะนี้ ตามที่มีการเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดวันนี้ (18 ก.พ. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้แถลงถึงกรณีดังกล่าวว่า การปรับปรุง ‘ตึกตู้ปลา’ ในครั้งนี้ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาพื้นที่ทำงานร่วมกันนอกห้องเรียนของนักศึกษาที่มีมายาวนานเท่านั้น แต่มีเป้าหมายที่จะทำให้เป็นพื้นที่สร้างและต่อยอดไอเดียไปสู่ธุรกิจจริงให้ครบในที่เดียว โดยได้มีการย้ายออฟฟิศชั้นล่างออกไป เพื่อคืนพื้นที่ให้นักศึกษาด้วยการสร้าง iLab และ iSpace ประมาณ 1,120 ตารางเมตร มีทั้ง coworking Space ห้องประชุมเล็กใหญ่ เวที Pitch กับนักลงทุน รวมไปถึงพื้นที่อเนกประสงค์ที่ใช้ในการจัดสัมมนาและ event ในรูปแบบต่างๆได้

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องขออนุมัติการปรับปรุงจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทุกชุดทั้งในระดับคณะและมหาวิทยาลัย เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงประชุมกับประชาคมยาวนานข้ามปี

ส่วนกรณีที่มีการบอกว่า ประชาคมไม่รับทราบนั้น รศ.ดร.พิภพ ยืนยันว่า “ไม่เป็นความจริง เรื่องปรับปรุงตึกตู้ปลาเข้าประชุมคณาจารย์มากกว่า 8 ครั้ง รับฟังความคิดเห็น มีแจ้งการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ประชาคมไม่ต้องการ ซึ่งเราก็ยกเลิกปรับแบบกันหลายครั้ง มีตัวแทนจากทุกฝ่ายเข้าร่วมหารือ สุดท้ายเมื่อกลางปีที่แล้วได้ขอให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มาทำ workshop ระดมสมองร่วมกัน 4 ฝ่าย คือ ผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ พัฒนาแบบต่อเนื่องอยู่หลายเดือนจนลงตัวที่ Version 8 จากนั้นจึงได้เอาเรื่องเข้าคณะกรรมการประจำคณะที่เป็นบอร์ดสูงสุดของคณะเพื่อขออนุมัติ ก่อนส่งเรื่องให้มหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ตั้งคณะกรรมการกำกับการปรับปรุงพื้นที่เข้ามาดูแล ดังนั้นยืนยันได้ในเรื่องของความโปร่งใสและความถูกต้องในทุกขั้นตอน”

นอกจากนี้ กรณีเรื่องของการเอาที่ราชพัสดุมายกให้เอกชน รศ.ดร.พิภพ กล่าวว่า ไม่มีมูลทั้งสิ้น ทั้งนี้เป็นเรื่องของการจัดพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีอำนาจดำเนินการตามมาตรา 14 (10) ของพรบ. ซึ่งมีข้อบังคับกำหนดวิธีดำเนินการชัดเจน และมีคณะกรรมการที่ราชพัสดุรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ ดังนั้น เรื่องนี้ไม่มีประเด็นผิดกฎหมายใดๆโดยเด็ดขาด

“สำหรับ โครงการนี้ เป็นการมองคนละมุมในขณะที่คณาจารย์ที่เรียกร้องมองเรื่องตึก เรื่องทรัพย์สิน เป็นสำคัญ แต่ผู้บริหารเน้นที่การสร้าง platform เพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษใหม่มากกว่า ซึ่งอาจทำให้ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันได้ แต่ทีมบริหารก็จะเดินหน้าทำเพื่อประโยชน์ของนักศึกษาต่อไป” รศ.ดร.พิภพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะทำการแถลง รศ.ดร.เอกจิตต์ จึงเจริญ หนึ่งในตัวแทนกลุ่มคณาจารย์ที่คัดค้านโครงการดังกล่าว ได้เข้าร่วมฟังและซักถามถึงการเปิดเผยสัญญาการจัดจ้าง ซึ่งไม่เคยได้เห็นรายละเอียดเลย พร้อมขอให้เปิดเผยชี้แจง

“เราไม่ได้ขัดขว้าง เราคิดว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ ถ้าอันไหนไม่ชัดเจน กฎระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกฎหมายต่าง ควรทำให้เคลียร์ สุดท้ายแล้วเมื่อทุกอย่างเคลียร์ก็มาเริ่มต้นกันใหม่  มาทำให้มันถูกต้อง เพื่อประโยชน์ของนักศึกษาและเจ้าหน้าที่”

ขณะที่ ผศ.สมชาย ศุภธาดา ได้ฝากให้สื่อมวลชนช่วยตรวจสอบ กรณีการจัดตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เหตุใดถึงเพิ่งตั้งขึ้นมาในวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา และประกอบด้วยใครบ้าง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจริงหรือไม่ ซึ่งหากเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ทางตนไม่มีการแถลงข่าว เรื่องก็จะเงียบและช้าไปตลอด ตนยึดนักศึกษาและเจ้าหน้าที่เป็นหลัก คณาจารย์แทบไม่มีผลกระทบ ซึ่งหากทำตามขบวนการถูกต้องมันควรจะเสร็จนานแล้ว

ด้าน ตัวแทนนักศึกษา ชั้นปีที่ 2 เผยว่า ส่วนตัวรู้สึกดีที่จะมีพื้นที่การทำงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการเรียนเน้นการปฏิบัติจริง ต้องมีการระดมความคิด ฝึกการพรีเซนต์ แต่บางครั้งกลับไม่มีสถานที่อำนวยความสะดวกให้นักศึกษา เช่น ช่วงสอบ คนจะใช้เยอะ พอโต๊ะไม่พอก็ต้องออกไปหาที่อื่น ซึ่งตนอยากให้ปัญหานี้จบลงเร็วๆ เพราะคนที่เสียผลประโยชน์จริงๆ คือ ตัวนักศึกษา