พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมราชินีนาถใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

Home / NEWS / พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมราชินีนาถใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของพลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร พระราชสมภพ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 โดยพระนามว่า “สิริกิติ์” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เป็นศรี แห่งกิติยากร” นั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้พระราชทานพระนามให้ เป็น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เริ่มเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด ในพุทธศักราช 2479 ต่อมาในพุทธศักราช 2483 จึงย้ายไปเรียนชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ถนนสามเสน โดยหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เริ่มเรียนเปียโนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ และในเวลาต่อมาได้ตั้งใจที่จะเป็นนักเปียโนผู้มีชื่อเสียง ในพุทธศักราช 2489 หม่อมเจ้านักขัตรมงคลได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตประจำประเทศอังกฤษ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลจึงทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปด้วย

พุทธศักราช 2491 ขณะที่หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัวอยู่ในปารีส ได้รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งโปรดเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ในกรุงปารีสอยู่เสมอ จนเป็นที่คุ้นเคยและต้องพระราชอัธยาศัย ฉะนั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุปัทวเหตุทางรถยนต์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต้องประทับรักษาพระองค์ในสถานพยาบาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมหลวงบัวพาบุตรี ทั้งสองคือหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์และหม่อมราชวงศ์บุษบาเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเยี่ยมพระอาการเป็นประจำ จนพระอาการประชวรทุเลาลงและเสด็จกลับพระตำหนักได้

ต่อมาอีก 1 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัวมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วสมเด็จพระราชชนนีรับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคลและทรงประกอบพิธีหมั้นเป็นการภายใน ในวันที่ 19 กรกฎาคม พุทธศักราช 2492 ทรงใช้พระธำมรงค์ที่สมเด็จพระราชบิดาทรงหมั้นสมเด็จพระราชชนนีเป็นพระธำมรงค์หมั้น แล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ศึกษาต่อไปจนถึงกำหนดตามเสด็จกลับมาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2493

อภิเษกสมรส

วันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นประธานพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์และ เทพมนตร์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และในวันนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 เป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และทรงเฉลิมพระยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

และเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกผนวช ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 – 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 พระองค์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ถือเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของกรุงรัตนโกสินทร์ต่อจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5

ต่อมาในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในวันที่ 5 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีของพระองค์ ตามแบบโบราณราชประเพณีว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”

พระราชกรณียกิจสังเขป

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของบุคคลผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบทห่างไกล ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทย อาทิเช่น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านที่มีความงดงามหลายสาขา และยังทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการด้านสาธารณสุข โดยได้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย