มุมมอง สมคิด การเมือง ทุบ เศรษฐกิจชาติพัง ?!
“ที่เป็นห่วงมาก คือ ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้น สภาพประชาชนที่แตกแยก สภาพต่างๆ เหล่านี้เมื่อออกไปสู่สายตาชาวโลกมีผลกระทบอย่างแรงต่อความเชื่อใจ เพราะเป็นประเทศที่ไม่มีรัฐบาลที่แน่นอน ไม่รู้จะจบกันเมื่อไร”
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สู่การปฏิรูปที่ปฏิบัติได้จริง :Getting Reform Right” พร้อมกับกล่าวต่อว่า
สถานการณ์แบบนี้เรียกว่า เปิดประตูและเดินไปในเขตที่เป็นประเทศที่เริ่มล้มเหลวและเราเปิดประตูเดินเข้าไปแล้ว อย่าเดินลึกเข้าไปกว่านี้อีกเลย เพราะเพียงเท่านี้บรรยากาศแบบนี้คิดว่าจะสามารถปฏิรูปอะไรได้ แทนที่จะปฏิรูปเดินหน้ามันกลับกำลังผลักเมืองไทยให้ทำอะไรไม่ได้
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนั้นกำลังสร้างปัญหาใหญ่ในอนาคตที่รัฐบาลข้างหน้าต้องมาตามแก้ไขและถูกบดบังไม่ให้มีการปฏิรูปอย่างจริงจังเพราะปัญหาเฉพาะหน้าเต็มไปหมด
ฉะนั้น เงื่อนไขสำคัญในการปฏิรูปให้เกิดขึ้นจริงมี 5 เงื่อนไขที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องของสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเป็น เงื่อนไขแรก จะต้องยุติโดยเร็ว ซึ่งตอนนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และไม่ใช่แค่เพียงเกิดการถดถอย แต่กำลังทรุด
เพราะปัจจัยสนับสนุนการเจริญเติบโต ทั้งการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคในประเทศ และการลงทุน กำลังผุกร่อนไม่มีแรงผลักดันเพียงพอ สะท้อนให้เห็นจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ปี 2556 ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.9 เท่านั้น และยังซบเซาต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปีนี้
ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากโครงการรับจำนำข้าวที่ล้มเหลว ทำให้ชาวนาทั่วประเทศเกือบ 40 ล้านคนไม่มีกำลังซื้อ โดยวิกฤตครั้งนี้นับว่ารุนแรงกว่าปี 2540 ที่กำลังซื้อของประชาชนระดับรากหญ้ายังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ จึงควรยุติสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
ภายใต้ภาวะความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ยังส่งผลให้การลงทุนจากต่างชาติชะงักลงอย่างแน่นอน โดยการตั้งความหวังว่าจะมีโครงการขอส่งเสริมการลงทุน จากนักลงทุนต่างชาติ 400,000-500,000 ล้านบาท ในปีนี้ คงเป็นเหมือนฝันกลางวัน ปฏิกิริยาลูกโซ่ของปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยจมดิ่งและลึกลงไป เหมือนกับก้อนน้ำแข็งละลาย
นอกจากนี้ภาพความรุนแรงที่ปรากฏขึ้นยังกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นใจในระดับสากลที่มีต่อเมืองไทย ยิ่งเวลานี้ในช่วงที่ต้องมีการเซ็นสัญญาระหว่างประเทศ คงไม่มีประเทศใดเชื่อเครดิตประเทศไทย อีกต่อไป เพราะเป็นประเทศที่ไม่มีรัฐบาล และไม่รู้ว่าปัญหาจะจบเมื่อใด และตอนนี้ได้เปิดประตูเข้าไปสู่การเป็นรัฐล้มเหลวแล้วจึงไม่ควรก้าวลึกไปกว่านี้อีก
ส่วนเงื่อนไขที่ 2 เป็นเงื่อนไขของผู้นำและสภาวะผู้นำ ต้องมีผู้นำที่ไม่ใช่แค่นั่งเป็นประธาน แต่งตั้งคณะกรรมการ แต่ต้องเป็นผู้นำที่สามารถกำกับ และขับเคลื่อนกลไกต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรค มีวิสัยทัศน์เพียงพอ สามารถสื่อให้ประชาชนเห็นตามอย่างเข้าใจ
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ผ่านมาเรามักไม่ค่อยได้เห็นผู้นำที่นำความเปลี่ยนแปลงมาให้เห็น ดังนั้น หากจะปฏิรูปจริงต้องหาคนเหล่านี้ให้เจอก่อน
เงื่อนไขที่ 3 เป็นการบริหารจัดการที่ มุ่งหวังผลจริง โดยต้องมีจุดมุ่งหมายปฏิรูปเพื่ออะไร แบ่งงานออกมาให้ชัดเจน
นายสมคิด กล่าวถึงเงื่อนไขที่ 4 ว่า เป็นเรื่องของการขับเคลื่อนสังคม โดยการปฏิรูปไม่ใช่การแก้กฎหมาย แต่เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในสังคมจากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่ง ที่ดีกว่า สามารถทำให้รู้ว่าการปฏิรูปนี้เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับตัวเอง
เงื่อนไขสุดท้าย คือการมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง เพื่อดำเนินการปฏิรูป เพราะที่ผ่านมาแผนงานต่างๆมักถูกหยุดชะงักเมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่าง หรือจางหายไปตามระยะเวลา แต่ถ้าภาคประชาสังคม ทั้งประชาชน เอกชน และสื่อมวลชน เข้มแข็งจะไม่มีพลังไหนจะเข้ามาต่อต้านได้
MThai News