พ.ร.บ.ข้าว

สนช. เลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว นำข้อเรียกร้อง-คัดค้าน ทบทวนอีกครั้ง

สนช.เลื่อนพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ไปเป็นวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อนำข้อเรียกร้อง-ข้อคัดค้านไปทบทวนอีกครั้ง นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ชี้แจงภายหลังที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติข้าวออกไปว่า กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติข้าว ขอถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากวาระการประชุม…

Home / NEWS / สนช. เลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว นำข้อเรียกร้อง-คัดค้าน ทบทวนอีกครั้ง

สนช.เลื่อนพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ไปเป็นวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อนำข้อเรียกร้อง-ข้อคัดค้านไปทบทวนอีกครั้ง

นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ชี้แจงภายหลังที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติข้าวออกไปว่า กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติข้าว ขอถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากวาระการประชุม สนช. ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เพื่อทบทวนปรับแก้เนื้อหาอีกครั้ง หลังเกิดกระแสท้วงติงจากภาคเกษตรกร และชาวนา ก่อนจะเสนอต่อที่ประชุม สนช. อีกครั้ง ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นี้

โดย นายสมชาย ชี้แจงว่า เนื้อหาสาระในกฎหมายเกี่ยวกับการจำคุกชาวนา และปรับ 1 แสนบาทนั้นไม่มี รวมถึงการซื้อขายพันธุ์ข้าวท้องถิ่น กรรมาธิการจะได้พิจารณาเพื่อเขียนให้ชัดเจน ขณะที่ร่างกฎหมายนี้จะมีกรรมการจากชาวนา 4 คน ใช้อำนาจร่วมกับรัฐบาล และมีตัวแทนชาวนาอยู่ในอนุกรรมการพัฒนาพันธุ์พืช

ทั้งนี้จะเขียนในกฎมายให้เคลียร์ในหลายประเด็น อาทิ ข้าวสายพันธุ์ ต่าง ๆ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสังข์หยด ที่มีอยู่แล้ว ยังรับรองได้อยู่ สามารถขายกันเองในชุมชนได้ ซึ่งการปรับปรุงกฎหมายเร่งด่วน เพื่อความรอบคอบ จึงจะนำความเห็นต่างของทั้งชาวนา นักวิชาการ และทีดีอาร์ไอ ที่จะเสนอเพิ่ม ส่งมาได้ที่กรรมาธิการ ทั้งนี้ในร่างพ.ร.บ.ข้าว ร้อยละ 90 ของกฎหมายดีอยู่แล้ว เพียงแต่มีการสื่อสารที่ผิดพลาด

ด้าน พลเอกมารุต ปัชโชตะสิงห์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติข้าว สนช. ยืนยันว่า การพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่เคยมีการบังคับชาวนา เพราะมีการยกเว้นข้อปฏิบัติบางประการแก่ชาวนาแต่แรก และไม่มีการกำหนดทั้งโทษปรับ และโทษจำคุกแก่ชาวนาใด ๆ ทั้งสิ้น และเพื่อให้เกิดความรอบคอบ และได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด หลังกรรมาธิการ ใช้เวลากว่า 2 ปี ในการรับฟังความเห็นชาวนา ที่ต้องการให้มีกฎหมาย ให้ความเป็นธรรมแก่ชาวนา