การปฏิบัติธรรมถือว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะได้พบกับความสุขและความสงบ รวมถึงความอิ่มเอมของใจ ซึ่งล่าสุดนางเอกสายบุญอย่าง นุ้ย สุจิรา ก็ใช้เวลาว่างจากการทำงานมาให้เวลากับตัวเองด้วยการละทางโลกหันหน้าเข้าวัดปฏิบัติธรรม เพื่อน้อมบุญให้กับผู้มีพระคุณและกัลยาณมิตรทุกท่านเนื่องในโอกาสที่เป็นเดือนเกิดของตัวเอง
โดย นุ้ย สุจิรา ได้โพสต์ข้อความว่า “ใส่บาตรเช้านี้โมทนาบุญร่วมกันค่ะ“
“ตั้งใจเป็นนักเรียนธรรม เพื่อน้อมบุญให้กับผู้มีพระคุณและกัลยาณมิตรทุกท่านเนื่องในเดือนเกิด #อนุโมทนาบุญร่วมกันนะคะ #ปฏิบัติธรรม“
ทำวัดเช้า-เย็น ช่วยงานวัด งานครัว
“ตื่นเต้นมาก!!!! ได้รับหน้าที่ทำกล้วยบวชชีถวายพระ แม่ชี แม่ขาวและแจกญาติธรรมที่มาช่วยงานวัด ไม่เคยทำ!!! ทำไงหล่ะ!!!! ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยแล้วกัน #กล้วยบวชชี ด้วยสูตรของทางวัดเป็นสูตรโบราณกว่าร้อยปี ทำออกมาแล้วหอมหวานแบบหลายมิติมาก ว่าจะลองมาทำที่บ้านอีกครั้งดู แต่วันนั้นอร่อยเฉย จิงๆนะ“
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากอินสตาแกรม nuisujiraa
- ปฏิบัติธรรมก็คือ การเอาธรรมมาปฏิบัติ เอาธรรมมาใช้ดำเนินชีวิตในการทำงาน เอาธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริง ทำให้เป็นชีวิตที่ดีมีความสุขนั่นเอง เมื่อปฏิบัติธรรมก็หมายถึงว่า เอาธรรมมาใช้ในชีวิตจริง หรือเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต ถ้ายังไม่ได้ใช้ ก็ไม่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติ
การเตรียมตัวก่อนไปปฏิบัติธรรม
1.สถานที่
เลือกสถานที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านหรือชุมชนมากนัก มีการคมนาคมสะดวก ต้องเป็นสถานที่ๆ เงียบสงัดทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้คนไม่พลุกพล่าน เป็นธรรมชาติร่มรื่น อากาศถ่ายเทดี แสงแดดส่องถึง สถานที่ที่ไม่ค่อยมีสัตว์เลื้อยคลานและแมลงต่างๆ มารบกวน
2.อาหาร
ศึกษาให้ละเอียดว่าระเบียบในการรับประทานอาหาร (ฉัน) กี่มื้อ เป็นมังสวิรัติหรือไม่ มีน้ำและเครื่องดื่มใดๆ ในช่วงบ่ายหรือไม่ บางแห่งมีอาหารให้เพียงมื้อเดียว บางแห่งสองมื้อ หรือบางแห่งอนุญาตให้นำไปเอง เป็นต้น ศึกษาให้ดีเพื่อเตรียมตัวให้ถูก
3.การนอน
นักปฏิบัติธรรมต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพราะการนอนที่บ้านกับที่วัดจะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ บางแห่งนอนกลางวันปฏิบัติกลางคืน บางแห่งปฏิบัติกลางวันนอนกลางคืน ซึ่งเราต้องเตรียมร่างกายจิตใจให้พร้อม
4.เวลาในการปฏิบัติ
ศึกษาตารางของการปฏิบัติให้ถื่ถ้วน เพราะจะต้องตื่นเช้า ตี3 และกว่าจะเข้านอนเวลา 22.00 น. บางท่านพึ่งเริ่มต้นปฏิบัติอาจจะต้องให้ได้อย่างน้อย 6 ชั่วโมง ถ้าเป็นนักเรียนปฏิบัติเก่าต้องปฏิบัติต่อเนื่องให้ได้ 18-21 ชั่วโมง ซึ่งต้องเตรียมตัวให้พร้อม
5.การพูดคุย
สถานที่ปฏิบัติบางแห่งอาจจะไม่ห้าม บางแห่งในช่วงของการปฏิบัติจะต้องงดการพูดคุยกันโดยไม่จำเป็น
6.อริยาบถ
เน้นการเคลื่อนไหวช้าๆ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่มฯลฯ ต้องทิ้งความเคยชิน แต่เน้นให้ใช้สติปัญญาในการกำหนดรู้อากัปกริยาและการเคลื่อนไหวต่างๆ โดยปราศจากความรีบร้อนใดๆ ทั้งสิ้น
7.การสำรวมทวารทั้ง6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
บุคคลที่ไม่ได้ปฏิบัติ จะปล่อยจิตใจให้รับรู้ไปตามอำนาจของกิเลส พอเข้าปฏิบัติแล้วต้องเอาใจใส่ตั้งสติกำหนดการรับรู้ทุกอย่าง เพื่อสกัดกั้นกิเลสไม่ให้ไหลเข้ามาทางทวาร 6 ถ้ารักษาดีหรือสำรวมดีตั้งแต่ต้นอาจเป็นผลให้การปฏิบัติของท่านประสบความก้าวหน้ายิ่งขึ้น
8.ตัดความกังวลทิ้งไป
ปรับใจอยู่กับสถานภาพอันเป็นปัจจุบัน อดีตผ่านมาแล้ว กลับไปแก้ไขไม่ได้ อนาคตก็ยังเดินทางมาไม่ถึงจะไปคำนึงทำไม ถ้าจะแก้ไขจงใส่ใจที่รูปนามอันเป็นปัจจุบัน พยายามเตรียมใจและอย่าอาลัยหรือมองไกล
9.สิ่งที่ต้องเตรียมไป
- ลดทิฐิมานะ ทำตัวให้เรียบง่าย วางหัวโขนหรือสิ่งที่เป็นมายาไว้ที่บ้าน ที่ทำงานอย่านำมากวนใจ
- เตรียมเครื่องนุ่งห่มให้พร้อม ถ้าคฤหัสถ์ให้ใช้สีขาวเป็นหลัก รวมทั้งของเครื่องใช้ที่จำเป็นจริงๆ ให้นำมาด้วย
- เครื่องประดับตกแต่งร่างกายทุกชนิดไม่ต้องนำมา ยกเว้นนาฬิกาบอกเวลา
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ไม่ร้ายแรง และเป็นโรคไม่ติดต่อ ไม่เป็นที่รังเกียจของสังคม ควรนำยารักษามาเองและต้องแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ไว้ด้วย เพื่อกรณีฉุกเฉิน
- งดการติดต่อสื่อสารทุกชนิด เช่น ห้ามอ่านหนังสือทุกชนิด เขียน ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ พูดคุยผ่านโทรศัพท์มือถือ ถ้านำมาให้ฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ
- ลงทะเบียนและอ่านระเบียบให้เข้าใจก่อนตั้งใจปฏิบัติ