งานบุญพระเวส นุ้ย สุจิรา ร่วมงานบุญพระเวส

นุ้ย สุจิรา งดงามในบทนางมัทรี พิธีแห่งานบุญพระเวส ณ สปป.ลาว  

เป็นอีกงานบุญสำคัญของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว (สาธารณรัฐประชาธิปไตรประชาชนลาว) และแถบภาคอีสานของประเทศไทย สำหรับงานบุญพระเวส (ผะเหวด) โดยงานนี้นักแสดงสาวสวย นุ้ย สุจิรา อรุณพิพัฒน์ พร้อมสามีได้ไปร่วมงานบุญใหญ่ อย่าง งานบุญพระเวส ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งนักแสดงสาว ยังเผยอีกว่าปุ๊บปั๊บตนได้รับบทเป็นนางมัทรีในพิธีแห่งอัญเชิญพระเวสกลับเมือง

Home / NEWS / นุ้ย สุจิรา งดงามในบทนางมัทรี พิธีแห่งานบุญพระเวส ณ สปป.ลาว  

เป็นอีกงานบุญสำคัญของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว (สาธารณรัฐประชาธิปไตรประชาชนลาว) และแถบภาคอีสานของประเทศไทย สำหรับงานบุญพระเวส (ผะเหวด) โดยงานนี้นักแสดงสาวสวย นุ้ย สุจิรา อรุณพิพัฒน์ พร้อมสามีได้ไปร่วมงานบุญใหญ่ อย่าง งานบุญพระเวส ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งนักแสดงสาว ยังเผยอีกว่าปุ๊บปั๊บตนได้รับบทเป็นนางมัทรีในพิธีแห่งอัญเชิญพระเวสกลับเมือง

โดยคุณนุ้ยได้โพสต์บทความพร้อมรูปลงเพจ Facebook ส่วนตัวว่า “ร่วมงานบุญพระเวส ครั้งแรกในชีวิต ปุ๊บปั๊บรับบทเป็นพระนางมัทรี ร่วมแห่เชิญพระเวสกลับเมืองระยะทาง 10กิโล ด้วยความตั้งใจในครั้ง ขอน้อมบุญถึงกัลยาณมิตรทุกท่านนะคะ”

ทำความรู้จักงานบุญพระเวส

ประเพณีบุญผะเหวด หรือ บุญพระเวส เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญมหาชาติ ชาวอีสานจะนิยมจัดขึ้นในเดือนสี่ (ช่วงเดือนมีนาคม) เป็นบุญประจำปีในฮีตสิบสอง ดังที่ปราชญ์อีสานได้ประพันธ์ผญา (บทกลอน) เกี่ยวกับการทำบุญในช่วงเดือนสามและเดือนสี่ไว้ว่า “เถิงเมื่อเดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นข้าวจี่ ตกเมื่อเดือนสี่ค้อยจัวน้อยเทศน์มัทรี” แปลว่า เมื่อถึงเดือนสามพระภิกษุสามเณรจะรอชาวบ้านทำบุญข้าวจี่ และเมื่อถึงเดือนสี่(ช่วงเดือนมีนาคม) สามเณรเทศน์กัณฑ์มัทรี ในงานบุญมหาชาติบุญผะเหวดของชาวอีสานถือเป็นงานบุญสำคัญ ชาวบ้านจะจัดให้มีพิธีอย่างใหญ่โต งานบุญต่อเนื่องกัน ๒-๓ วัน

โดยมีความเชื่อสืบต่อกันมาจากเรื่อง พระมาลัยสูตรว่า “พระมาลัยได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พบพระศรีอริยเมตไตรย องค์พระศรีอริยเมตไตรยได้ดำรัสสั่งกับพระมาลัยว่า ถ้ามนุษย์อยากพบพระองค์ จงอย่าได้ทำบาปหนัก ได้แก่ ฆ่าบิดามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า และยุยงให้พระสงฆ์แตกกัน อนึ่งให้ฟังเทศน์เรื่องราวมหาเวสสันดรชาดกให้จบในวันเดียวกัน ฟังแล้วให้นำไปประพฤติปฏิบัติจะได้รับอานิสงส์มาก และจะได้พบพระศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย เมื่อพระมาลัยกลับมาถึงโลกมนุษย์ จึงได้บอกเรื่องราวให้มนุษย์ทราบ ด้วยเหตุนี้ชาวอีสานผู้ปรารถนาจะพบศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย จึงได้ร่วมกันทำบุญผะเหวดสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

โดยวันแรก เป็นวันเตรียมชาวบ้านจะออกมาช่วยกันจัดเตรียมสถานที่ภายในวัด ทำความสะอาด ตกแต่งประดับศาลาโรงธรรมประกอบด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย และดอกไม้ตามฤดูกาลของภาคอีสานโดยนำมาร้อยให้สวยงาม เช่น ดอกทองกาว ดอกสะแบง ดอกพระยอม ดอกดอกปีป ฯลฯ ส่วนผู้สูงอายุจะเตรียมทำหมากพันคำ เมี่ยงพันคำ ธูปเทียนอย่างละพัน และข้าวตอกดอกไม้เพื่อใช้สำหรับเป็นเครื่องบูชาคาถาพัน รอบศาลาโรงธรรมจะมีธงผะเหวดปักไว้ ๘ ทิศ ตามต้นเสามีขันกะย่องที่สานด้วยไม้ไผ่ผูกติดไว้เพื่อใช้ใส่ข้าวพันก้อน และตั้งหอพระอุปคุตที่ด้านทิศตะวันออกของศาลา ป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง ข้างธรรมมาสน์ที่ใช้แสดงธรรมจะมีดาบ ปืนติดไว้ และอ่างน้ำ ๔ ใบ ที่จำลองขึ้นเป็นสระน้ำ มีจอก แหน (สาหร่าย) ต้นบัว ดอกบัว ผักตบอยู่ในอ่างด้วย หน้าธรรมมาสน์จะตั้งหม้อน้ำมนต์ และเครื่องบูชาต่างๆ ไว้สำหรับเจ้าภาพมาจุดธูปเทียนบูชาตามกัณฑ์เทศน์ของตนเอง การจัดตกแต่งศาลาโรงธรรมชาวอีสานจะนิยมทำคล้ายๆกัน อาจจะแตกต่างกันบ้างตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น และจัดให้เสร็จเรียบร้อยก่อนถึงวันงาน ส่วน ในวันที่สองเป็นวันโฮม (วันรวม) เป็นวันเฉลิมฉลองพระเวสสันดร ชาวบ้านรวมทั้งพระภิกษุสงฆ์จากหมู่บ้านใกล้เคียงจะมาร่วมพิธี มีทั้งการจัดขบวนแห่เครื่องไทยทาน ฟังเทศน์และแห่พระเวสสันดร โดยการแห่ผ้าผะเหวด (ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระเวสสันดรตั้งแต่ต้นจนจบ) ซึ่งสมมติเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าสู่เมือง เมื่อถึงเวลาค่ำจะมีเทศน์เรื่องพระมาลัยซึ่ง ในเรื่องพระมาลัยนี้จะแสดงให้เห็นถึงที่มาของประเพณีบุญผะเหวด และวันที่สามเป็นงานบุญพิธี เป็นวันที่มีเทศน์เรื่องราวของพระเวสสันดร ที่บำเพ็ญทานบารมีที่กล่าวไว้ในบทสวดในการเทศน์มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์

สำหรับการเทศน์มหาชาติซึ่งเป็นกิจกรรมหลักในงานบุญผะเหวด เมื่อจะเริ่มพิธีเทศน์มหาชาติจะต้องมีการอ่านสังกาดก่อน โดยพระจะต้องเป็นผู้อ่าน เพื่อเป็นการบอกเล่าความเป็นมาของพุทธศาสนาโดยย่อตั้งแต่ตนจนปัจจุบัน และยังเป็นการบอกศักราชและพยากรณ์พุทธศาสนาในอนาคตด้วย เมื่อการอ่านสังกาดเสร็จแล้วจะมีการเทศน์คาถาพัน คือการเทศน์ตามหนังสือผูกของชาวอีสาน จากนั้นเป็นการเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสนต่อเพื่อเป็นการเท้าความเรื่องที่มาของเทศน์มหาชาติ ที่เป็นเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่า เมื่อพระมาลัยได้ไปพบพระศรีอริยเมตไตรย บนสรวงสวรรค์และได้นำความมาบอกมนุษย์ ถึงการที่มนุษย์จะได้ไปเกิดในในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย นั้น จะต้องรักษาตนให้อยู่ในศีลในธรรมและจะต้องฟังเรื่องราวของพระเวสสันดร เมื่อเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสนจบแล้วจึงเริ่มเทศน์มหาชาติ

ในการเทศน์มหาชาติ ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ แต่ละกัณฑ์จะมีความยาวไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่อยู่ในตอนนั้น และขึ้นอยู่กับผู้เทศน์ด้วย เพราะต้องใช้พระสงฆ์หลายรูป เนื่องจากการเทศน์มหาชาตินั้นยาวนานมาก พระสงฆ์ที่เทศน์แต่ละรูปก็มีความชำนาญในกัณฑ์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเนื้อหาเนื้อเรื่องเช่น กัณฑ์ ชูชกนิยมเทศน์ให้สนุกจึงมักให้พระสงฆ์ที่ยังหนุ่มมีน้ำเสียงชัดเจนเทศน์ ส่วนในกัณฑ์มัทรีนิยมเทศน์ให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์คล้อยตามด้วนความสงสาร จังมักให้พระสงฆ์ที่มีน้ำเสียงช้าเนิบนาบเป็นผู้เทศน์เป็นตน ครันใกล้รุ่งสางก็เทศน์จบกัณฑ์สุดท้ายคือ กัณฑ์ นครกัณฑ์พอดี เมื่อเทศน์มหาชาติจบครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์แล้ว นิยมนิมนต์พระเถรผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสในพื้นที่มาเทศน์สรุปความในการจัดงานบุญผะเหวดอีกครั้ง เรียกว่า เทศน์ฉลอง หลังจากนั้นก็ทำพิธีเชิญพระอุปคุตกลับ เป็นอันเสร็จพิธีทำบุญผะเหวดและการเทศน์มหาชาติ ในบางพื้นที่จะมีการจัดพิธีทำบุญตักบาตรในตอนเช้าอีกครั้งหนึ่งด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลความรู้เรื่องงานบุญพระเวส จาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

ขอบคุณภาพสวยๆจากเพจเฟสบุ๊ก นุ้ย สุจิรา อรุณพิพัฒน์