รู้จักระบบ ไพรมารีโหวต (Primary Vote) เพื่อเลือกผู้สมัคร ส.ส. ของแต่ละพรรค

เมื่อการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง หลังจากว่างเว้นมาราว 4 ปี ซึ่งนั่นไม่ได้มาแบบเก่า แต่มาพร้อมระบบเลือกตั้งแบบใหม่ ที่คนไทยควรรู้และเข้าใจกับวิธีการนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา…

Home / NEWS / รู้จักระบบ ไพรมารีโหวต (Primary Vote) เพื่อเลือกผู้สมัคร ส.ส. ของแต่ละพรรค

เมื่อการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง หลังจากว่างเว้นมาราว 4 ปี ซึ่งนั่นไม่ได้มาแบบเก่า แต่มาพร้อมระบบเลือกตั้งแบบใหม่ ที่คนไทยควรรู้และเข้าใจกับวิธีการนี้

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

สำหรับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ขณะที่กระบวนการหลังจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268

ที่กำหนดให้ดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับตั้งแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ซึ่งหากพิจารณาตามเวลาโรดแมปที่กำหนดแล้ว การเลือกตั้งจะสามารถเกิดขึ้นได้เร็วสุดคือวันที่ 24 ก.พ. 2562 และช้าที่สุดคือ 5 พ.ค. 2562

การได้มาซึ่ง ส.ว.

สำหรับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งมีผลใช้บังคับหลังจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สาระสำคัญของกฎหมายลูก ส.ว. ในวาระเริ่มแรกกำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก ส.ว. จำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำโดย ส.ว. จะมีที่มาตามที่มาตรา 90 กำหนด ดังนี้

  1. ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกส.ว.ด้วยวิธีการเลือกกันเองของผู้สมัครทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ให้ได้จำนวน 200 คนให้แล้วเสร็จก่อนวันที่เลือกตั้งสส.ไม่น้อยกว่า 15 วัน และส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้ คสช.เป็นผู้เลือกให้เหลือ 50 คน
  2. ให้คณะกรรมการสรรหาส.ว.คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศ จํานวนไม่เกิน 400 คน และเสนอให้คสช.เลือกให้เหลือ 194 คนเช่นกัน ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่ช้ากว่า 15 วันก่อนวันเลือกตั้งส.ส.
  3. ให้ผู้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เป็นส.ว.โดยตำแหน่ง รวม 6 คน

ทั้งนี้ การประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบการจัดทำไพรมารีโหวตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยมี 2 แนวทาง คือ 1.การทำจัดทำไพรมารีโหวตระดับภาค และ 2.ใช้วิธีการอื่นๆ ต่อมานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายได้ร่วมหารือกับ กกต. เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการจัดการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกรณีการจัดทำไพรมารีโหวต ซึ่งจะยึดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับพรรคการเมือง

ไพรมารีโหวต (Primary Vote) คืออะไร?

ไพรมารีโหวต (Primary Vote) คือ การเลือกตั้งขั้นต้นที่สมาชิกของพรรคทุกคน มีสิทธิลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกคนที่เสนอตัวเป็นผู้สมัคร หรือ Candidate ของพรรคเป็นวิธีการเลือกตั้งขั้นต้นที่ได้รับความนิยมกันมากที่สุด

ไพรมารีโหวต จะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ

  • แบบปิด คือให้สิทธิสมาชิกพรรคเท่านั้นในการลงคะแนน
  • แบบเปิด คือ ทุกคนสามารถลงคะแนนได้หมดไม่ว่าจะเป็นสมาชิกพรรคหรือประชาชนทั่วไปซึ่งวิธีนี้จะทำให้ทุกคนมีโอกาสลงความเห็นก่อนว่าจะเลือกใครลงสมัครเลือกตั้ง แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ผู้มีสิทธิ์ทุกคนนั้นจะได้เลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยตนเอง โดยรายชื่อที่พรรคกำหนดมา ชอบคนเลือกคนนั้น ใครได้คะแนนมากที่สุดก็เอามาลงสมัครอย่างเป็นทางการ

พรรคการเมืองที่จะส่งผู้เข้าสมัครลงเลือกตั้งได้จำเป็นต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  1. ต้องมีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในเขตพื้นที่เลือกตั้งนั้น
  2. พรรคการเมืองจะต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับเลือกมาจากสาขาพรรคการเมืองหรือเป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด (Primary Vote)
  3. พรรคการเมืองที่จัดตั้ง หรือพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 (พรรคเก่า) จะต้องดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 53/2560 แต่หากพรรคการเมืองปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วนจะไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้

วิธีการทำไพรมารี่โหวต

  • ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
    พรรคการเมืองเปิดให้สมาชิกสมัครเป็นตัวแทน จากนั้นคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตรวจสอบคุณสมบัติ ต่อมาส่งรายชื่อผู้สมคัรให้สาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดประชุมคัดเลือกผู้สมัคร สาขาพรรคสมาชิกประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน และเลือกรายชื่อผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 คนแรกของแต่ละเขตเลือกตั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยหากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นชอบ ให้แสดงเหตุผลและให้พิจารณาผู้สมัครซึ่งได้คะแนนในลำดับถัดไปเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
  • ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
    พรรคการเมืองเปิดให้สมาชิกสมัครเป็นตัวแทน จากนั้นคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตรวจสอบคุณสมบัติ ไม่เกิน 150 คน ต่อมาส่งรายชื่อผู้สมคัรให้สาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดโดยให้สมาชิกลงคะแนนเลือกได้คนละไม่เกิน 15 คน ประชุมคัดเลือกผู้สมัคร สาขาพรรคสมาชิกประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดประกาศผลการนับคะแนน เลือก 15 คนโดยจัดบัญชีรายชื่อ 150 เรียงตามลำดับคะแนนให้คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้พิจารณาให้ความเห็นชอบ หากคณะกรรมการบริหารพรรคฯ ไม่เห็นชอบให้ดำเนินการใหม่จนกว่าจะได้บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ข้อดีของไพรมารีโหวต

โดยเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้เผยแพร่ข้อมูลของการทำไพรมารีโหวต (Primary Vote) โดยจะทำให้ลดจำนวนผู้สมัครหรือคัดสรรผู้สมัครให้มีจำนวนน้อยลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพรรค ขณะเดียวกันก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

และยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่มีสิทธิ์ในการลงคะแนนจะได้มีส่วนร่วมในการคัดกรองผู้สมัครที่มีความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริตมีคุณธรรมและจริยธรรมตามมาตรฐานที่กำหนดในข้อบังคับของพรรคการเมืองมาเป็นตัวแทนของประชาชนในการบริหารประเทศอย่างแท้จริง

ขณะที่ยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม และให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร พรรคการเมืองซึ่งต้องจัดตั้งสาขาในต่างจังหวัดก็ให้สมาชิกประจำเขตในแต่ละภูมิภาคเข้ามามีบทบาทในการนำเสนอตัวแทน ซึ่งจะช่วยลดการผูกขาดการคัดเลือกผู้สมัครจากกรรมการบริหารพรรค

ข้อเสียของไพรมารีโหวต

การทำไพรมารี่โหวต พรรคการเมืองจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสาขาพรรคหรือการหาสมาชิก อีกทั้งพรรคเล็กและพรรคการเมืองตั้งใหม่อาจไม่สามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้ในทุกพื้นที่ทำให้ไม่มีตัวแทนพรรคในการคัดเลือกผู้สมัคร ด้วยกติกาเช่นนี้ทำให้พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กอาจเสียเปรียบกว่าพรรคขนาดใหญ่

ที่มาของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ.2560

ประเด็นที่มานายกรัฐมนตรี เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น เพียงแต่ต้องมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดให้พรรคการเมืองต้องเสนอรายชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

โดยสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติว่าจะเลือกบุคคลใดในบัญชีรายชื่อดังกล่าวมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้า ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรแต่ในระยะ 5 ปีแรก

มีบทเฉพาะกาล มาตรา 272 กำหนดว่าหากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองแจ้งไว้ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองแจ้งไว้

ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา และจะต้องให้ที่ประชุมรัฐสภา ( ส.ส.และ ส.ว.) มีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 500 คน จากส.ส. และ ส.ว.ทั้งหมด 750 คน ลงมติเพื่องดเว้นการบังคับใช้บทบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้สภาผู้แทนฯ เสนอชื่อบุคคลภายนอกบัญชีได้

 


ข้อมูลจาก