SME ผู้ประกอบการใหม่ สสว.

เดินหน้า SME ไทย: เริ่มเล็ก สำเร็จเร็ว… คิดให้ไกล และใหญ่พอ

สสว. หรือสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เดินหน้าโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (SME Start up: Early Stage) และโครงการยกระดับธุรกิจเริ่มต้น (Boost Up New Entrepreneur) ปี 2562…

Home / NEWS / เดินหน้า SME ไทย: เริ่มเล็ก สำเร็จเร็ว… คิดให้ไกล และใหญ่พอ

สสว. หรือสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เดินหน้าโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (SME Start up: Early Stage) และโครงการยกระดับธุรกิจเริ่มต้น (Boost Up New Entrepreneur) ปี 2562 ยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมายสู่ SME ภาคการเกษตร กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้หญิง ทั้งยังปรับรูปแบบการให้คำปรึกษา (Coaching) ให้เข้ากับผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มมากขึ้น

โดยในงานเปิดโครงการ ได้จัดเวทีสัมมนา ‘SME Early Stage: เริ่มเล็ก สำเร็จเร็ว… คิดให้ไกล และใหญ่พอ’ โดย สุวรรชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สสว., ดร.ภคินี อริยะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ดร.โชคอนันต์ บุษราคัมภากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, อ.วรกิตติ์ แซ่จิ้ว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ผศ.ดร. ศรัณยพงศ์ เที่ยงธรรม ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ดร. ภคินี อริยะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จับคู่ธุรกิจกับงานวิจัย

ดร.ภคินีอริยะ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การพัฒนาผู้ประกอบการไทยเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการยุค 4.0 ใช้เทคโนโลยีเป็นหรือว่ามี Digital Literacy ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจปัญหาของผู้บริโภคหรือ Customer Pain สิ่งเหล่านี้เข้าใจแล้วจบตรงนั้นไม่ได้ ต้องกลับมาหาทางปลดล็อค ด้วยการแก้บางอย่างที่เรียกว่า Research and Innovation

โดยงานวิจัยนั้น สามารถเพิ่งพากลไกของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ในการจับคู่ระหว่างสถานประกอบการ กับนักวิจัย นำไปสู่การได้ Innovation to Income หรือ นวัตกรรมที่ทำเงินได้

“เรามีความรู้สึกว่างานวิจัยมักขึ้นหิ้ง ผู้ประกอบการไม่ค่อยได้อะไร เราจะทำยังไง ทั้งในบทบาทของมหาวิทยาลัย และในฐานะที่เป็นหน่วยร่วมของ สสว. ให้สิ่งนี้ คือ Innovation to Income เกิดขึ้นจริง ก็จะต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าใจเรื่องงานวิจัยมากขึ้น และเชื่อมโยงอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าสู่กระบวนการแมทชิ่งกันให้ได้”

ดร.ภคินี ยกตัวอย่างบริษัทที่กำลังอยู่ในช่วงการทำวิจัยร่วมกัน

“เช่น ระบบเอไอในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ซื้อสินค้าบนระบบอีคอมเมิร์ซ ในลักษณะการซื้อแบบ Group Buying สมมุติเราซื้อรองเท้าสนีกเกอร์คู่หนึ่ง 4,600 บาท แต่ถ้าเราซื้อแบบกรุ๊ป 5 คนขึ้นไปอาจจะเหลือ 3,800 บาท แต่เราจะทำยังไงให้ครบ 5 คน ระบบจะทำการประเมินพฤติกรรมของผู้ซื้อแล้วส่งคำเชิญชวนคนที่มีความชอบคล้ายคลึงกับเราไปชวนคนที่เหลือ คนที่เหลือก็จะเข้ามาซื้อ พอครบ 5 คนในเวลาที่กำหนดก็จะได้สินค้าในราคาที่ถูกลง ก็จะเห็นว่างานวิจัยช่วยยกระดับผู้ประกอบการให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างแท้จริง”

ดร. โชคอนันต์ บุษราคัมภากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นำทาง

ผศ.ดร.โชคอนันต์ บุษราคัมภากร จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับโลกที่กำลังปฏิรูป หรือที่เรียกว่า Business Transformation หรือการปฏิรูปธุรกิจ ซึ่งในยุคดิจิทัล ผู้ประกอบการที่จะริเริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ จะต้องเจอกับข้าศึกที่แต่ก่อนไม่เคยเจอ เดินมาอยู่หน้าบ้าน หรือโทรศัพท์มือถือของเราที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน

“ถ้ามองตลาดในบ้านเรา ไม่ว่าตลาดในชุมชนหรืองานแสดงสินค้า จะเจอสินค้าที่มีความคลึงกัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวและผู้ประกอบการต้องเจอตลอด ไม่ว่าจะทำธุรกิจมานานแล้วหรือผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้น การแข่งขันเราไม่ได้แข่งขันในตลาดภายในชุมชน อำเภอ จังหวัด หรือประเทศ แต่เราแข่งขันกับตลาดโลก ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการทำธุรกิจในยุคใหม่คงหนีไม่พ้นการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ถึงแม้เราจะมีเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น เอไอ, ไอโอที, บิ๊ก ดาต้า แต่สิ่งที่อยู่กับเราจริงๆ ก็คือความคิดริ่เริ่มสร้างสรรค์”

ความคิดสร้างสรรค์กับธุรกิจไม่ได้หมายความว่าจะทำเป็นของออกมาอย่างเดียวแต่ยังนำไปใช้ในการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้กับผู้บริโภคสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆหรือระบบนิเวศของธุรกิจ

“ยกตัวอย่างอีคอมเมิร์ซที่มา disrupt ห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศห้างล้มกันเป็นโดมิโนแต่ผมคิดว่าห้างในเมืองไทยไม่ล้มเนื่องจากห้างในเมืองไทยมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ห้างในเมืองไทยไม่ได้ขายของอย่างเดียวแต่ขายเรื่องของประสบการณ์เอาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มาใช้ในการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้กับผู้บริโภคนั่นสิ่งสำคัญที่ทำให้ห้างในเมืองไทยยืนหยัดอยู่ได้ฉะนั้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ถูกนำไปใช้ในทุกๆ ส่วนของธุรกิจ”

อ.วรกิตติ์ แซ่จิ้ว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เริ่มต้นเร็วและโฟกัสให้ถูกจุด

อ.วรกิตติ์ แซ่จิ้ว จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เริ่มธุรกิจเร็วมีชัยไปกว่าครึ่ง เริ่มเร็ว ล้มก็จริง แต่ไม่ได้ล้มบ่อย พลังแห่งความสร้างสรรค์ พลังแห่งความคิดเยอะก็จริง แต่เราในฐานะโค้ช เราต้องจำกัดความคิดของคุณ และจำกัดพลังของคุณให้ได้ ด้วยกรอบของแนวคิดที่แท้จริง

“สมมุติผู้ประกอบการเดินเข้ามามีโปรดักต์ร้อยอย่าง เลือกมาสักหนึ่งโปรดักต์ แล้วงานวิจัยของเราพบว่า ผู้หญิงมีความพยายามสูงมาก สูงกว่าผู้ชาย แต่ทัศนคติเชิงบวกน้อย คือคิดลบ กลัวขาดทุน วิธีการคือไม่ต้องเริ่มใหญ่ ยกตัวอย่างเห็ดทอด ขายตามตลาด แม่ค้าคนนี้เริ่มจากการขายเห็ดทอดตามท้องตลาด วันหนึ่งเข้ามาหาเรา พร้อมกับแป้งหนาๆ เห็ดบางๆ เคี้ยวทีน้ำมันแตกเต็มปาก ไม่เป็นไร เรามีเครื่องมือเยอะ มีอุตสาหกรรมเกษตร มี อย. มีนักการตลาด มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร มีทุกอย่างที่คุณมีปัญหา จนตอนนี้ขายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีหีบห่อเรียบร้อย”

ผศ.ดร. ศรัณยพงศ์ เที่ยงธรรม ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

วัยแห่งความเก๋าเกม

ผศ.ดร. ศรัณยพงศ์ เที่ยงธรรม ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า MIT สำรวจ 2.7 ล้านสตาร์ทอัพ พบว่าอายุที่ดีที่สุดในการทำสตาร์ทอัพ คือหลัง 45 ก่อน 25 มีสตาร์ทอัพที่รอดไม่เกิน 1 ใน 3 แต่ถ้าเริ่มหลัง 40 จะดับเบิ้ลขึ้นมา แปลว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เริ่มธุรกิจครั้งแรกในชีวิตหลัง 40 ปี มี 60 เปอร์เซ็นต์รอด แต่ 90 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ตั้งธุรกิจหลังอายุ 50 ยังคงรอดอยู่ทุกวันนี้

“ผมได้คุยกับคนหนึ่งเริ่มธุรกิจแปรรูปถั่งเช่าตอนอายุ 58 ก่อนหน้าจะทำธุรกิจเขาทำงานโรงงานอายุ 58 มีแรงบันดาลใจคือพี่สาวป่วยเป็นไมเกรนจึงหาวิธีที่จะรักษาให้ได้ไปเจรจาที่มช. พากันไปที่จีนเพื่อดูวิธีการทำถั่งเช่าจนกระทั่งวันนี้คำว่านิวโปรดักต์อาจจะไม่ดีเด่นมากแต่ทุกวันนี้ยอดขายเดือนละแสนกว่าบาท

“คนมีประสบการณ์ ความเข้าอกเข้าใจคน เข้าใจลูกค้า ทำให้เราสามารถสร้างทีมได้ง่ายสร้างทีมได้เร็ว และเป็นเครื่องทุนแรงที่ทำให้เราไม่จำเป็นต้องทุ่มสรรพกำลังให้มากจนเกินไป และเรารู้ว่าประสิทธิภาพในการลงแรง กับการลงแรงด้วยพลังตลอดเวลามันคนละเรื่องกัน”

“ในวัยที่เรามีกำลังที่จะทำได้ ณ วันที่สตาร์ทอัพตอนอายุ 50 มันอาจจะพลาด อาจจะตัดสินใจผิดในบางประการ แต่มันย่อมดีกว่ามั้ย กับเมื่อเลยจากจุดนี้ ต้องจมปลักกับความคิดว่า ทำไมเมื่อมีโอกาสแล้วจึงไม่เริ่ม Better late than never เริ่มต้นช้ายังดีกว่าไม่ได้เริ่มเลย”

ผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ สามารถติตามข่าวสารได้ทาง www.sme.co.th หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-298-3282 และ 02-298-3047 หรือ สสว. Call Center 1301