เปิดภาพอาคาร – บ้านเรือน ประชาชน ที่ จ.อุดรธานี พังราบ หลังพายุฤดูร้อน – พายุลูกเห็บพัดถล่มกลางดึก โชคดีไร้เจ็บเสียชีวิต
วันนี้ (26 ก.พ. 2562) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชัยสิทธิ์ ยอดชาย เล็งไธสงค์ ได้มีการเผยแพร่ภาพสภาพบ้านเรือนประชาชน รวมถึงสถานที่ราชการ ทั้งโรงเรียน และวัด ที่พังยับ หลังจากเมื่อช่วงคืนที่ผ่านมาได้เกิดมีพายุลูกเห็บพัดถล่มกลางดึก
โดยภาพได้เผยให้เห็นว่า ฤทธิ์ของพายุทำให้อาคารหลายหลังคาทะลุเป็นรูโบ๋ บางแห่งถึงขั้นพังถล่มลงมา นอกจากนี้ ยังมีต้นไม้ใหญ่ล้ม ศาลาริมทางถูกแรงลมพัดปลิวกระเด็นออกไปจากจุดเดิม สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ดีจากเหตุที่เกิดขึ้นไม่มีรายงานของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแต่อย่างใด
สำหรับสภาพอากาศในช่วงนี้ทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาประกาศว่าช่วงวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ นี้ จะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้นบางพื้นที่ ใน จ.ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก
หลังจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ในช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูร้อนพอดีนั่นเอง ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย
สำหรับวิธีขั้นต้น รับมือพายุฤดูร้อน สามารถทำได้ดังนี้คือ
– ติดตั้งสายล่อฟ้าในอาคารสูง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากฟ้าผ่า
– หมั่นติดตามสภาวะอากาศ และฟังคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอยู่เสมอ
– หากมีประกาศเตือนภัยให้เก็บสิ่งของที่มีน้ำหนักเบาสามารถปลิวตามลมได้ไว้ในที่มิดชิด ป้องกันสิ่งของถูกพายุพัดเสียหายและได้รับอันตรายจากการถูกสิ่งของพัดกระแทก
– ตรวจสอบความแข็งแรงมั่นคงของบ้านเรือน หลังคา อาคารต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เพราะจะเกิดลมพายุอย่างรุนแรงพัดเข้ามาด้วย ซึ่งอาจทำให้หลังคาบ้านปลิวไปพร้อมกับลม หรืออาจมีลูกเห็บตกลงมาทะลุหลังคาบ้านได้ หากประตูหรือหน้าต่างไม่แข็งแรง ควรใช้ไม้ทาบตีตะปูปิดตรึงไว้ เพื่อป้องกันแรงลมหอบพัดบ้านเรือนพังเสียหาย
– ปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างบริเวณรอบบ้านให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการหักโค่น
– หากพบต้นไม้ สายไฟเกี่ยวกิ่งไม้ ป้ายโฆษณา ฯลฯ ที่อยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยควรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มาปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว
– เตรียมป้องกันภัยให้สัตว์เลี้ยง และพืชผลการเกษตร เกษตรกรควรจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้ โดยเฉพาะกิ่งที่กำลังผลิดอกออกผล
– หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ออกกำลังกาย ขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง
– หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด รวมทั้งโทรศัพท์ เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง
– จัดเตรียมอาหารแห้ง ยารักษาโรค ตะเกียง ไฟฉาย ไม้ขีดไฟ และวิทยุพกพาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
– หลังพายุสงบ หากพบต้นไม้ในบริเวณบ้านโค่นล้ม ให้รีบตัดทิ้งทันที หรือหากพบเห็นเสาไฟฟ้าล้มหรือมีสายขาด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว เป็นต้น
ขอบคุณ และชมภาพ ทั้งหมดที่ได้ ชัยสิทธิ์ ยอดชาย เล็งไธสงค์