กรมกิจการเด็กและเยาวชน บ้านพักเด็กและครอบครัว

บ้านพักเด็กและครอบครัว ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน

หากประชาชนพบเห็นเด็กและเยาวชน ประสบปัญหาทางสังคม สามารถติดต่อได้ที่ บ้านพักเด็กและครอบครัว และแอปพลิเคชัน “คุ้มครองเด็ก"

Home / NEWS / บ้านพักเด็กและครอบครัว ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน

บ้านพักเด็กและครอบครัว

บ้านพักเด็กและครอบครัว เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มี 77 จังหวัดทั่วประเทศมีภารกิจ ดังนี้ 

    1) ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมในภาวะวิกฤติ

    2) ให้การช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพ และจัดบริการสวัสดิการสังคมสำหรับเด็ก เยาวชน สตรี และ  กลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาทางสังคม

    3) ให้สถานที่พักพิงชั่วคราว และปัจจัยสี่สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาทางสังคม

    4) เป็นสถานแรกรับเด็กและเยาวชน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546

    5) เป็นสถานพักพิงชั่วคราว ตามกฎหมาย 3 ฉบับได้แก่

        – พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2546

        – พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550

        – พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

    6) ส่งเสริมสนับสนุน สภาเด็กและเยาวชนระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ปี พ.ศ.2560

    7) ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา อาสาสมัคร กลุ่ม องค์กร เครือข่ายในการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับกลุ่มเป้าหมายด้วยการบูรณาการและปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสวัสดิการสังคม

    8) บูรณาการและปฏิบัติงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการให้ความช่วยเหลือระยะสั้นและระยะยาวสำหรับกลุ่มเป้าหมาย

บ้านพักเด็กและครอบครัวดูแลเด็กและเยาวชนในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 

    1) ด้านการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ประกอบด้วย 3 ระบบสำคัญ เพื่อการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูหรือปฏิบัติโดยไม่เหมาะสมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้

“การสงเคราะห์” เป็นการสงเคราะห์หรือช่วยเหลือเด็กให้ได้รับการอบรมเลี้ยงดู และมีพัฒนาการ ที่เหมาะสม ตามมาตรฐานการเลี้ยงดูขั้นต่ำ สำหรับเด็กที่ประสบความยากลำบาก เช่น ขาดผู้ดูแลตกทุกข์ได้ยาก ไร้ที่พึ่ง กำพร้า ถูกทอดทิ้งรวมถึงเด็กที่มีพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ไม่สามารถอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่อยู่ในภาวะที่อาจเลี้ยงดูเด็กได้ เช่น พ่อแม่หย่าร้าง พ่อแม่ติดคุก พ่อแม่ที่ติดสุรา ยาเสพติด พ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อเด็ก เป็นต้น เด็กเหล่านี้จะได้รับการช่วยเหลือสงเคราะห์จากหน่วยงานของรัฐในการเลี้ยงดู อบรม ฝึกอาชีพ หรือบำบัดฟื้นฟู สมรรถภาพ ทางร่างกายและจิตใจ และครอบครัวให้สามารถกลับมาอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้อย่างเป็นปกติสุข และมีความปลอดภัย และวิธีการสงเคราะห์เด็กตามมาตรา ๓๓

“การคุ้มครองสวัสดิภาพ” มุ่งเน้นการเข้าคุ้มครองเด็กที่น่าจะอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงจะได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพจากการเลี้ยงดูโดยมิชอบ หรือการกระทำโดยมิชอบของบุคคลใดก็ตามในสังคม เช่น การถูกกระทำรุนแรง ทารุณ กักขัง หรือทำร้ายทั้งทางจิตใจ ร่างกาย รวมทั้งเด็กที่มีความประพฤติหรือเสี่ยง ที่จะกระทำผิด โดยการคุ้มครองนี้จำเป็นต้องอาศัยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อยุติการละเมิดนั้นเป็นการเร่งด่วน และประชุมหารือร่วมกับทีมสหวิขาชีพ และผู้เกี่ยวข้องเพื่อการรวบรวมข้อมูลสำคัญ และร่วมกันวางแผนแนวทางแก้ไข เยียวยา ฟื้นฟู เด็กที่อาจได้รับผลกระทบจากการกระทำนั้น และดำเนินการตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องเพื่อการลงโทษผู้กระทำผิด

“การส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา” มุ่งเน้นมาตรการเชิงบวกเพื่อ พัฒนาให้นักเรียน นักศึกษา มีความประพฤติที่เหมาะสม และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ปราศจากความเสี่ยงต่อชีวิต ร่างกาย สิทธิเสรีภาพต่อตนเองและผู้อื่น

    2) ด้านการส่งเสริมและพัฒนา

ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน การพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กในชุมชน การติดตามเด็กสูญหาย การบริการวิชาการด้านเด็กและเยาวชน การป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาทางสังคม ในเด็กและเยาวชน การพัฒนาระบบคุณภาพการให้บริการ การพัฒนาเด็กปฐมวัย การส่งเสริมสนับสนุนกิจการ สภาเด็กและเยาวชนทุกระดับในจังหวัด และการป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

หากประชาชนพบเห็นเด็กและเยาวชน ประสบปัญหาทางสังคม สามารถติดต่อได้ที่ บ้านพักเด็กและครอบครัว ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ หรือโทรสายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ตลอด 24 ชั่วโมง และแอปพลิเคชัน “คุ้มครองเด็ก”