จับตาสถานการณ์ธุรกิจแฟรนไชส์ปี 58 ในสภาวะเศรษฐกิจยังไม่ชัวร์ ธุรกิจไหนไปได้สวย ธุรกิจไหนเป็นดาวรุ่ง ไปดูกัน
ก้าวเข้าสู่ปีพศ.2558 ปีแพะที่ใครหลาย ๆ คนอยากให้เป็น ‘แพะทองคำ’ ซะเหลือเกิน หลังจากที่กว่าจะข้ามผ่าน ‘ปีม้าป่วย’ มาได้ หลายคนถึงกับออกปากกันเลยว่าแทบหมดแรงข้าวต้ม
แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจน้อยใหญ่ก็สามารถผ่านมาได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ MThai News จึงขอนำเสนอช่องทางรวย หรือช่องทางสร้างเศรษฐีใหม่กับธุรกิจ ‘แฟรนไชส์‘ ซึ่งก่อนที่จะไปดูว่ามีธุรกิจอะไรบ้างนั้น ไปสำรวจสถานการณ์กันก่อนดีกว่า
สมาคมแฟรนไชส์ไทย เปิดเผยข้อมูลว่า แฟรนไชส์ในประเทศไทยมีอยู่ระหว่าง 400-600 ราย และมีร้านในระบบแฟรนไชส์ มากกว่า 90,000 แห่ง โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี
หรือพูดง่าย ๆ ว่า มีร้านใหม่ๆ เปิดเพิ่มขึ้น ทั้งสาขาของบริษัทแม่เอง และสาขาของผู้ประกอบการแฟรนไชซี่ ประมาณ 13,000-15,000 แห่งต่อปี หรือเท่ากับเปิดเพิ่มขึ้น 35-40 แห่งต่อวันทีเดียว
โดยกลุ่มธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็กๆ จะมีมากที่สุด ในระบบแฟรนไชส์ เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวรถเข็น ร้านลูกชิ้นทอด ลูกชิ้นปิ้ง ที่มีอยู่มากกว่า 100 ราย ซึ่งที่จริงแล้วอาจจะไม่เป็นแฟรนไชส์เต็มร้อย แต่ก็มีการเติบโตที่มีศักยภาพ
ขณะที่แฟรนไชส์ด้านการศึกษาเป็นอันดับ 2 รองมาจากกลุ่มธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม คือมากกว่า 60 รายให้เลือก เช่น สถาบันสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนสอนคณิตศาสตร์ คนตรี ศิลปะ หรือ พัฒนาทักษะสมองของเด็ก เป็นต้น
อย่างไรก็ตามแฟรนไชส์ที่มีศักยภาพ และโอกาสในการเติบโตสูงในปี 58 โดยเฉพาะในธุรกิจบางกลุ่ม ที่มีให้เลือกน้อย ทั้งๆ ที่ความต้องการในตลาดการลงทุนแฟรนไชส์มีอยู่สูง มีดังนี้
เริ่มที่ ‘แฟรนไชส์ร้านอาหารระดับกลาง’ หรือร้านอาหารแบบมีที่นั่งรับประทาน ประมาณ 1 คูหาขึ้นไป ยังมีอัตราการเติบโตที่อยู่ในระดับสูง เช่นร้านอาหารไทยทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นร้านตามสั่ง
ร้านก๋วยเตี๋ยวรสเด็ด ร้านข้าวแกงแสนอร่อย ร้านราดหน้ามือหนึ่ง ร้านส้มตำ ยำแซ่บ ร้านอาหารจีน บะหมี่-เกี๊ยว ข้าวมันไก่ เป็นต้น ซึ่งการลงทุนก็อยู่ในระดับหลักแสน และไม่เกินหลัก 3 ล้าน น่าสนใจไม่น้อย
ต่อมาที่ ‘แฟรนไชส์ด้านบริการ‘ ซึ่งตลาดมีความต้องการเป็นอย่างมาก เช่น ธุรกิจประดับยนต์ บริการติดฟิล์มรถยนต์ บริการซ่อมแซมรถ ซ่อมแซมบ้าน ติดตั้งผ้าม่าน ติดตั้งบานประตู หน้าต่าง บานเลื่อน
หลังคา บริการด้านความงาม ทำผม ดูแลผู้สูงอายุ ทำความสะอาด บ้าน สำนักงาน กระจกอาคาร ด้านการท่องเที่ยว ตัวแทนขายบ้าน อสังหา หรือแม้แต่ การทำการตลาดออนไลน์ เป็นต้น
ธุรกิจด้านการบริการมีจุดได้เปรียบเรื่องต้นทุน เพราะเป็นการใช้ทักษะการทำงานเป็นหลัก ซึ่งการเพิ่มแฟรนไชส์ในธุรกิจบริการนี้ จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้มาก เพราะเท่ากับเพิ่มขีดความสามารถให้กับบุคคลากรของชาติด้วย ได้สองเด้งกันเลยทีเดียว
สุดท้ายที่ ‘แฟรนไชส์ด้าน ร้านค้าปลีก’ ซึ่งยังมีไม่มาก ราว 25 รายเท่านั้น แต่เป็นกลุ่มที่สร้างผู้ประกอบแฟรนไชซี่ได้มาก เพราะมีแบรนด์ใหญ่ในกลุ่มนี้ คือ คอนวีเนียนสโตร์ เซเว่น อีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท เป็นต้น ซึ่งในแต่ละปี มีการขยายร้านเป็นหลักหลายพันแห่ง
แต่อย่างไรก็ตามแฟรนไชส์ร้านค้าปลีกอื่นๆ ยังมีไม่มากนัก ซึ่งร้านค้าปลีกในกลุ่มของร้านขายเครื่องมือช่าง ร้านขายสินค้าไอที ร้านขายยา หรือ ร้านที่มีสินค้าแบรนด์ติดตลาดแล้วก็มีศักยภาพที่จะขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ได้เช่นกัน
MThai News