อีกหนึ่งประเด็นร้อนที่ถูกเฝ้าจับตา สำหรับกรณี “ไถเงินญาตินักโทษ แลกอยู่สบายในคุก” เกิดเป็นข้อพิพาททางสังคมถึงความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่ ล่าสุดผู้ประกาศข่าว “บ๊อบ-ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์” จากรายการ “เจาะข่าวเด็ด สเปเชียล” (The Day News Update Special) เชิญผู้เสียหายเจ้าของเคส “คุณบุ้งกี๋” หลังออกมาตีแผ่ในรายการ หลังญาติร้องถูกผู้คุมเรือนจำไถเงินเป็นค่าดูแลนักโทษให้อยู่สุขสบายในคุก แฉมีพฤติกรรมซ้ำซาก ด้านราชทัณฑ์จ่อลงโทษขั้นเด็ดขาด ลดการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมเรือนจำ งานนี้ยังได้รับเกียรติจาก “ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์” ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อมโฟนอินกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ “นายอายุตม์ สินธพพันธุ์” เพื่อหาข้อสรุปที่แน่นอนและชัดเจน
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ทนายรณณรงค์วางเป้าหมายกรณีที่เกิดขึ้นอย่างไร เรื่องนี้จะไปจบที่ตรงไหน
ทนายรณณรงค์ : ผมมองข้ามเรื่องที่ผู้คุมจะติดคุกไปแล้ว จากหลักฐานที่มีคิดว่าเอาผิดได้ มีการโอนเงิน มีเงินสด มีคลิปเสียง ถ้ามี 3 อย่างขนาดนี้แล้วยังทำอะไรไม่ได้ ก็ไม่ต้องมีกระทรวงยุติธรรม
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ในข้อกฎหมายเอาผิดได้ถึงขั้นไหน
ทนายรณณรงค์ : อัตราโทษสูงสุดของการเรียกรับสินบน คือ จำคุกตลอดชีวิต แต่โทษหนักขนาดนี้ ก็ยังกล้าเรียกรับสินบน ไม่เข้าใจว่า Mindset ของข้าราชการ ของกระทรวง ของเจ้าหน้าที่ ของกรมราชทัณฑ์ แนะนำปลูกฝังกันมาอย่างไร อันหนึ่งที่น่าสนใจ และทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้ยอมไม่ได้ คือ การไปรีดไถกับคนที่เขาหาเช้ากินค่ำ ขับจักรยานยนต์รับจ้าง ให้เขารวบรวมเศษเงินมาให้ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก
บ๊อบ ณัฐธีร์ : เงินที่พ่อเอาไปให้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ จนถึงล่าสุดรวมแล้ว 7,000 กว่าบาท ที่ให้กับผู้คุมคนนี้ แต่ละรอบเก็บหอมรอบริบไปให้หรืออย่างไร
คุณบุ้งกี๋ : ก็จะมีมาเอาที่หนูบ้าง และก็หยิบยืมพี่ เพื่อนของคุณพ่อไปให้บ้าง ซึ่งคุณพ่อก็จะบอกว่าให้โอนเงินไปที่เลขบัญชีนี้ หนูก็ถามคุณพ่อว่าโอนไปทำอะไร คุณพ่อก็จะบอกว่าให้โอนไปเถอะ โอนไปให้คุณเขา หนูก็คิดว่าเพราะเขาขับวินก็อาจจะจ้างให้คุณพ่อโอนให้ หนูโอนให้ 1 รอบ 1,000 บาท แต่ว่ามาให้น้องชายโอนอีก 400 บาท และน้องชายก็ทักมาบอกว่าคุณพ่อให้โอนเงินไปนะ ก็เป็นบัญชีเดียวกัน
บ๊อบ ณัฐธีร์ : เรื่องแดงตอนไหน
คุณบุ้งกี๋ : เรื่องแดงเมื่อวันวันที่ 19 เม.ย. แต่จริง ๆ แล้วที่เริ่มผิดสังเกต คือ มีคุณป้าคนหนึ่งชื่อ “ป้าศรี” ซึ่งออกมาจากเรือนจำ พอพ้นโทษออกมาก็โทรหาคุณพ่อ จากนั้นก็เข้ามาหา แล้วบอกว่าที่ผู้คุมมาขอเงิน อย่าไปให้เพราะเขาโกหก เขาหลอกญาติ ครอบครัวของผู้ต้องขังหลายคนแล้วที่โดนแบบนี้ มีการเรียกเก็บเงิน และจะดูแลข้างในให้อยู่ดีกินดี หางานเบาๆให้ทำ แล้วก็บอกว่าเสื้อแขนยาวที่มาของเงินคุณพ่อไป 500 บาท จะซื้อเข้าไปให้คุณแม่ แต่คุณแม่ก็ได้ใช้ของหลวงตามปกติ และที่บอกว่าจะให้คุณแม่ไปอยู่อย่างสบาย พับถุงกระดาษอันนั้นก็ไม่มีนะคะ
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ตอนนี้คุณแม่ทำอะไรอยู่ข้างใน
คุณบุ้งกี๋ : คุณแม่ก็เป็นนักโทษอยู่ข้างในทั่วไป ซึ่งยังไม่ได้คุยกับคุณแม่ ได้คุยกับคุณแม่ตอนขึ้นศาลผ่านทางวีดิโอคอล ช่วงเดือนธันวาคม จากนั้นก็ไม่ได้คุย ไม่ได้ติดต่อ จดหมายก็ไม่ได้รับ
บ๊อบ ณัฐธีร์ : แล้วป้าศรีไปรู้จักกับคุณแม่ในเรือนจำได้ยังไง
คุณบุ้งกี๋ : ป้าศรีอยู่ห้องขังแดนเดียว และห้องเดียวกับคุณแม่ คดียาเสพติดเหมือนกัน
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ทำไมเราถึงติดต่อกับป้าศรีได้
คุณบุ้งกี๋ : คุณแม่อยู่ข้างในกับป้าศรี ก็น่าจะบอกกับป้าศรีว่าให้โทรไปเบอร์นี้ บ้านอยู่ตรงนี้ ซึ่งคือเบอร์ของคุณพ่อ อันนี้ที่หนูคิด ซึ่งที่ป้าศรีโทรมา ป้าบอกมาแบบนี้
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ตอนนี้ได้คุยกับคุณพ่อบ้างหรือยัง
คุณบุ้งกี๋ : ตอนแรกคุณพ่อเขาก็กลัวว่า ถ้าหนูเอาเรื่องนี้ ไปเอาเรื่องผู้คุม หากไปเอาเรื่องเขา คุณพ่อกลัวว่า เขาจะไม่ได้ดูแลคุณแม่ และอีกอย่างหนึ่ง คุณพ่อก็กลัวเรื่องความปลอดภัยด้วย เขาเป็นถึงผู้คุมก็น่าจะมีเส้นสายที่ใหญ่โต คุณพ่อกลัว หนูเลยบอกว่า หนูเอาไว้ไม่ได้นะ เพราะหนูไปที่หน้าเรือนจำ หนูโทรไปที่เรือนจำ โทรหาเขา มีผู้คุมเรือนจำท่านอื่รับสายแจ้งว่าสามารถเขียนจดหมายหากันได้ปกติ 1 สัปดาห์ส่งได้ 1 ครั้ง วีดิโอคอลก็ได้ตามปกติ หนูก็อึ้งมากเลยค่ะว่า ส่งหากันได้ทำไมผู้คุมไม่ให้คุณพ่อส่งจดหมายหาคุณแม่ และไม่ให้คุณแม่ส่งจดหมายหาคุณพ่อ
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ตอนนี้วางแผนไหม อย่างที่เจ้าหน้าที่บอกว่าจะวีดิโอคอลได้ สามารถที่จะเขียนจดหมายได้ จะเข้าไปพูดคุยหรือสอบถามจากปากคุณแม่เอง
คุณบุ้งกี๋ : หนูก็คิดไว้และพูดกับคุณพ่อว่าจะลงเยี่ยมคุณแม่ทางวิดีโอคอล แล้วจะถามคุณแม่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง จะบอกให้คุณแม่ย้ายไปอยู่อีกที่หนึ่ง คือ เรือนจำที่น้องหนูอยู่ จะบอกให้แม่ย้ายไปอีกที่หนึ่ง เพราะทางเรือนจำเขาบอกว่าถามคุณแม่แล้ว คุณแม่บอกว่าไม่อยากย้าย เขาให้ข้อมูลว่า คุณแม่ไม่อยากย้าย คุณแม่พอใจที่จะอยู่ตรงนี้
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ทนายรณณรงค์ คิดว่ามีขบวนการแบบนี้ ที่ทำในลักษณะนี้มากเท่าใด
ทนายรณณรงค์ : เคสแบบนี้ ส่วนใหญ่ผู้เสียหาย คนที่จ่ายเงินจะไม่กล้ามาเป็นพยาน ไม่กล้าเอาเรื่อง ตอนนี้ป้าศรีก็ไม่กล้ามาเป็นพยาน คือ กลัว ส่วนหนึ่ง คือ ผู้ต้องขังอยู่ข้างใน คนร้องเรียนอยู่ข้างนอก บางทีกฎหมายไม่ได้คุ้มครองการกระทืบกันในคุกเสมอไป
บ๊อบ ณัฐธีร์ : คุ้มครองนะ แต่ต้องมีหลักฐาน
ทนายรณณรงค์ : แต่หลักฐานบางทีก็ไม่ได้ถูกตีแผ่ อย่างเช่นน้องเขาไม่สามารถติดต่อแม่ได้ตั้ง 4 เดือน อันนี้มันคืออะไร และเรือนจำแห่งนี้ เป็นเรือนจำที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ไม่ได้อยู่ในตะเข็บชายแดนยังทำได้ขนาดนี้ แล้วระบบการตรวจสอบเรือนจำอื่นๆทั่วประเทศ มีการตรวจสอบที่ดีแบบนี้หรือเปล่า
บ๊อบ ณัฐธีร์ : มองว่ายังไงที่ทางกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม มองว่ากรณีเป็นเนื้อร้าย เอาไว้ไม่ได้ มองเรื่องนี้อย่างไร
ทนายรณณรงค์ : อยากให้ยกระดับการตรวจสอบเรือนจำทุกเรือนจำ ให้นักโทษได้มีการพูดคุยในทางลับกับบุคคลภายนอกที่ไม่อยู่ในเรือนจำ ว่าผู้คุมเรียกรับเงินไหม หรือมีการเรียกรับเงินอย่างอื่นไหม ทำได้หรือเปล่า เพราะเรือนจำแต่ละแห่งเป็นอิสระต่อกัน คือ เราอยากเห็นการตรวจสอบที่คำนึงหลักสิทธิมนุษยชน อย่างเรื่องนี้ก็มีคนบอกว่าควรจะเอาเข้ากรรมาธิการสิทธิมนุษยชนให้เข้าไปตรวจสอบเรือนจำ เพราะเขามองว่า ไหนๆก็เป็นเรื่องแล้ว ก็ควรจะเข้าไปแก้ไขระบบ เพราะไม่ใช่ปัญหาที่คน แต่เป็นปัญหาที่ระบบ ปัญหาที่ผู้บังคับบัญชา เราถามว่าผู้คุมรายนี้มีพฤติกรรมลักษณะนี้ ตั้งแต่ปี 2562 ทำไมปี 65 ยังได้มาทำงานอยู่ในเรือนจำ ย้ายจากแดนนั้นมาอยู่ส่วนงานรับโทรศัพท์ แล้วพอทางนี้โทรไปร้องเรียน เขาก็รับเองตลอด
จากนั้น บ๊อบ ณัฐธีร์ ต่อสายตรงถึง ท่านอธิบดีกรมราชทัณฑ์ทันที
บ๊อบ ณัฐธีร์ : สวัสดีครับท่านอธิบดี กรณีที่เกิดขึ้นกับเคสนี้ ท่านอธิบดีได้เห็น หรือ ได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ บ้างหรือไม่
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ : ได้สดับตรับฟังอยู่เสมอ นโยบายของกรมราชทัณฑ์ก็ชัดเจนในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว ที่ผ่านมาเราก็ได้ลงโทษทางวินัยไล่ออก ปลดออกไปหลายราย สำหรับเคสนี้กรรมการสอบสวนวินัยก็สอบสวน คาดว่าแล้วเสร็จจะนำเข้าสู่การประชุมอ.ก.พ..กรมราชทัณฑ์ ในรอบหน้าที่จะดำเนินการไล่ออก ซึ่งทางผู้อำนวยการเรือนจำหญิง ได้โทรรายงานมา ทางเรือนจำได้ขยับขยายเจ้าหน้าที่ไม่ให้พบปะกับผู้ต้องขังมาไว้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยวานนี้ทางกรมราชทัณฑ์ได้ลงคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย ส่วนโทษทางอาญาก็ต้องดำเนินการแจ้งความไป ถ้าผิด พ.ร.บ.เรื่องทุจริต จะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาดต่อไป ส่วนเคสอื่นๆ ก็ดำเนินการเหมือนกัน ได้สั่งการไปยังผู้บัญชาการเรือนจำ กรณีถ้ามีเจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบแบบนี้อีก ให้รีบแจ้งมาที่ส่วนกลางกรมฯ โดยด่วน เพื่อที่จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด
บ๊อบ ณัฐธีร์ : จะมีโอกาสไหมที่คนที่อยู่ในเรือนจำร้องเรียน หรือ คนที่อยู่ภายนอกร้องเรียนแล้วได้ข่าวจากในเรือนจำและมาร้องเรียน แต่ว่าหลักฐานไม่ได้ชัดเจนเหมือนในคดีนี้ การตรวจสอบพฤติกรรม และหลังจากนี้จะมีบัญชีม้าหรือไม่ที่เอามารับโอนเงินแทน ต่อไปผู้คุมเรือนจำที่มีพฤติกรรมแบบนี้ อาจจะเริ่มแสวงหาวิธีการอื่นๆ บ้างแล้ว
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ : เรื่องนี้คนที่ใกล้ชิดเจ้าหน้าที่มากที่สุด คือ ผู้บัญชาการเรือนจำ ที่ต้องสอดส่องผู้ใต้บังคับบัญชา และส่วนที่ 2 เมื่อทราบพฤติกรรมและพฤติการณ์หากว่ายังจับไม่ได้ด้วยหลักฐานก็ต้องรีบดำเนินการทางลับแจ้งมาที่ส่วนกลางกรมราชทัณฑ์เพื่อดำเนินการการบริหารงานบุคคล คือ ทางแรกที่มีนโยบาย คือ ให้มาประจำที่ส่วนกลางกรมฯ ไม่ต้องอยู่เรือนจำ ไม่ต้องย้ายเรือนจำไปที่อื่น เพราะว่าทางกรมฯ เน้นเรื่องพออยู่ พอกิน พอประมาณอยู่แล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่คนไหนมีความฟุ้งเฟ้อ ใช้จ่ายเกินตัว ผู้บัญชาการเรือนจำจะต้องดูแลเป็นพิเศษและแจ้งมาทางส่วนกลางกรมฯ ถ้ามีพฤติการณ์ยังจับไม่ได้ ทางกรมก็มีผู้ตรวจราชการประจำเขต มีรองอธิบดีที่กำกับเขต ต้องลงไปสืบดุว่ามีพฤติการณ์แบบนี้จริงไหม ถ้ามีจริง หรือ ว่าระแคะระคาย หรือ มีเสียงเข้ามา ก็ต้องออกคำสั่งย้ายมาประจำกรมฯ ไม่ต้องอยู่เรือนจำเลย เพราะอยู่เรือนจำ มีสวัสดิการที่เป็นตัวเงิน ที่มีเงินเพิ่มพิเศษพอเพียงอยู่แล้ว และยังมีสวัสดิการที่ไม่ใช่เป็นตัวเงินอีก เพราะฉะนั้นทางกรมฯ รับไม่ได้ ในเรื่องที่มีเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติการณ์แบบนี้ ผมคิดว่าต่อไปคงจะต้องร่วมบริหารงานเรือนจำกับภาคสังคม จะได้มีการตรวจสอบในระบบของเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะบางทีเจ้าหน้าที่มักไปพบญาติข้างนอก โดยที่ทางเรือนจำไม่ทราบก็มี นัดกันเองบ้างก็มี ถูกหลอกบ้างก็มี
ทนายรณณรงค์ : อยากให้คนนอก หรือ มีหน่วยงานกลางเข้าไปรับฟังว่าผู้คุม เป็นอย่างไรบ้างในแต่ละเรือนจำ
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ : ยินดีครับ เพราะในหลักของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เรือนจำเป็นปลายน้ำ ในการดูแลควบคุม และแก้ไขพัฒนานิสัยผู้ต้องขังให้กลับตัวเป็นคนดีได้ แต่ในหลักการ การเยี่ยมญาติ การติดต่อสื่อสาร ก็สามารถทำได้ ซึ่งช่วงนี้อาจจะมีโควิด การเยี่ยมอาจจะทางไลน์ ญาติอาจจะเป็นห่วงไม่ได้เจอกัน เยี่ยมไม่สะดวก แต่ว่าในอนาคต การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หรือ ญาติผู้ต้องขัง สามารถที่จะมีส่วนร่วมกับเรือนจำได้เลย เราก็อยากฟังเสียงสะท้อนจากญาติเหมือนกัน เพื่อการประเมินตัวเราเองด้วย ทั้งเรื่องการเป็นอยู่ การปฏิบัติ เรื่องอาหาร ปัจจัย4 เราก็อยากทราบเหมือนกันว่าพึงพอใจระดับไหน บางเรือนจำอาจจะไม่ดี ก็จะได้เปลี่ยนผู้บังคับบัญชาไปเลย
บ๊อบ ณัฐธีร์ : กระบวนการเท่าที่สามารถทำได้ ณ ตอนนี้ หากญาติของผู้ถูกคุมขังอยากจะติดต่อสื่อสารกับผู้ต้องขัง ต้องไปติดต่ออย่างไร ส่วนไหน ถึงจะไม่ถูกหลอก
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ : ผมแนะนำว่า ให้พบกับผู้บัญชาการเรือนจำคนเดียวเท่านั้น อย่าไปพบเจ้าหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่มีหลายฝ่าย สามารถไปพบผู้บัญชาการเรือนจำได้ตลอดเวลา ถ้าไม่ได้รับความสะดวก หากติดขัดยังไง ยังมีผู้ตรวจราชการส่วนกลาง สามารถมาติดต่อได้ตลอดเวลา โดยสามารถติดต่อไปได้ที่สำนักงานเลขานุการกรมราชทัณฑ์ที่สามารถตอบข้อมูล หรือ รับเรื่องราวร้องทุกข์ได้ ซึ่งจะต้องส่งผู้ตรวจราชการไปตรวจสอบโดยด่วน และรายงานกลับมาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ท่านอธิบดีจะสร้างความมั่นใจให้กับทางครอบครัวผู้ต้องขังที่ได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ : ผมอยากให้ทางครอบครัวคุณบุ้งกี๋กับทางผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง ลองคุยว่าถ้าทางคุณแม่พึงพอใจจะย้ายไปทัณฑสถานหญิงที่ลาดยาวก็ทำบันทึกเสนอได้ ทางกรมราชทัณฑ์ จะพิจารณาโยกย้ายให้ หากทางคุณแม่ประสงค์จะอยู่ต่อ ก็ต้องมีความชัดเจน ซึ่งการย้ายเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว สามารถย้ายได้ตามความประสงค์ของญาติ เพื่อความสะดวกในการเยี่ยมและความปลอดภัย
บ๊อบ ณัฐธีร์ : เครือข่ายที่อยู่ในเรือนจำกับผู้คุมรายนี้ จะสามารถตรวจสอบและหยุดเครือข่ายได้อย่างไรบ้าง
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ : ได้มีการตั้งคณะกรรมการวินัยไปแล้ว จะต้องมีการลงพื้นที่ไปสอบหมด หากมีใครเกี่ยวข้องด้วยก็ดำเนินการตามวินัยของกรมราชทัณฑ์
บ๊อบ ณัฐธีร์ : มีโอกาสไหม ที่จะทำให้เรื่องนี้ประชาชนจะวางใจได้จะไม่มีเรื่องในลักษณะนี้แล้ว
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ : นโยบายเน็กซ์ นอร์มอล ปี 65 ประกาศชัดเจนในข้อที่ 5 เรื่องการป้องกันและปราบปราม ที่ผ่านมาในการประชุม อ.ก.พ.กรมราชทัณฑ์ ผลการประชุมทางกรมฯ ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนมาโดยตลอดทุกครั้ง ว่าผลการประชุม มติที่ประชุมมีการให้ออกไปแล้วเท่าไหร่ ตั้งแต่ผมมารับตำแหน่ง มีการไล่ออกไปแล้ว 20 คน ปลดออกไปแล้ว 10 ราย
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ได้ยินได้ฟังทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวถึงแนวทางของเรื่องนี้แล้ว ทางทนายรณณรงค์ที่มาช่วยดำเนินการเรื่องนี้ รู้สึกอย่างไรบ้าง
ทนายรณณรงค์ : สิ่งที่เราคาดหวังไม่ใช่การเอาผิดผู้คุมที่มาเรียกรับเงิน แต่คือทำให้มาตรฐานของเรือนจำทั่วทั้งประเทศ ไม่มีการเรียกรับเงินเลย
บ๊อบ ณัฐธีร์ : อธิบดีกรมราชทัณฑ์เปิดทางแล้ว ว่าสามารถไปดำเนินการแจ้งได้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ถ้าอยากจะย้าย ไม่ได้ติดขัดข้อกฎหมาย เราจะเดินหน้าขอย้าย ก่อนจะย้ายจะไปพูดคุยกับแม่ก่อนไหม คุณบุ้งกี๋ : ในความคิดหนู หนูคุยกับคุณพ่อแล้วคงจะไม่ได้ถามคุณแม่ คือ อยากจะย้ายก่อน ย้ายให้แม่ไปอยู่กับน้องสาวก่อนค่ะ ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย ถ้าย้ายไปอย่างน้อยก็ยังมีน้องดูแลค่ะ
เจาะทุกปม คมทุกประเด็น ติดตามการตีแผ่ทุกเรื่องราวเฝ้าจับตา ในเรายการ “เจาะข่าวเด็ด สเปเชียล” (The Day News Update Special) โดยผู้ประกาศ “บ๊อบ ณัฐธีร์ โกศลพิศษฐ์” เจาะลึกกันแบบสด ๆ ได้ทุกวันศุกร์ เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ทางช่อง MONO29 หรือที่แอปพลิเคชัน MONO29 สามารถรับชมรายการย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=00Mt7J4zthE