กฎหมายกัญชา กัญชา กัญชาทางการแพทย์

กว่าจะมาเป็น ‘กัญชา’ ทางการแพทย์ถูกกฎหมายต้นแรกของไทย!?

แรงไม่ตกจริงๆ กับประเด็น ‘กัญชา’ ทางการแพทย์ในประเทศไทย ที่ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ให้ความสนใจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวอย่างมาก ซึ่งล่าสุดทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 18…

Home / NEWS / กว่าจะมาเป็น ‘กัญชา’ ทางการแพทย์ถูกกฎหมายต้นแรกของไทย!?

แรงไม่ตกจริงๆ กับประเด็น ‘กัญชา’ ทางการแพทย์ในประเทศไทย ที่ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ให้ความสนใจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวอย่างมาก ซึ่งล่าสุดทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 ที่ระบุให้ “กัญชา” และ “กระท่อม” สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคได้

ซึ่งจากประกาศของทางราชกิจจานุเบกษา ทำให้ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาตร์ได้ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้หลายประเทศทั่วโลกได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชา และพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและประโยชน์ในทางการแพทย์ได้

หากกล่าวย้อนกลับไปประเทศไทยว่าด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ได้มีการแบ่งยาเสพติดให้โทษออกเป็น 5 ประเภท เพื่อประโยชน์ในการกำหนดวิธีการควบคุมที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสม

เนื่องจากแต่ละประเภทมีอันตราย และความจำเป็นในทางการแพทย์ไม่เหมือนกัน โดย ‘กัญชา’ นั้นจัดอยู่ในประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งอยู่กลุ่มเดียวกับ พืชกระท่อม พืชฝิ่น และพืชเห็ดขี้ควาย ซึ่งมีโทษทางอาญากับผู้เสพและผู้ครอบครองและไม่มีการอนุญาตให้นำมาใช้ในทางการแพทย์แต่อย่างใด

มาทำความรู้จักกับ ‘กัญชา’

กัญชา หรือชื่อในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า Cannabis indica (Cannabis sativa forma indica) หรือในภาษาไทยเรียกว่า ปุ๊น หรือ เนื้อ เป็นชื่อของพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ในวงศ์ Cannabidaceae ใบมนแฉกลึกเข้าไปทางก้านหลายแฉก ดอกสีเขียว ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ใบและช่อดอกเพศเมียที่แห้งใช้สูบมีสรรพคุณทำให้มึนเมา เปลือกลำต้นใช้ทำเชือกป่านและทอผ้า

โดยจากงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า ‘กัญชา’ มีสาร 2 ชนิด ที่ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ได้แก่
1. สาร CBD (Cannabidiol) มีคุณสมบัติลดอาการคลื่นไส้อาเจียนและการบวมอักเสบของแผล
2. สาร THC(Tetrahydrocannabinol) มีคุณสมบัติช่วยให้ความรู้สึกผ่อนคลายและลดอาการปวด

กว่าจะมาเป็น ‘กัญชา’ ทางการแพทย์ถูกกฎหมายต้นแรกของอาเซียน – ต้นแรกของประเทศไทย

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522  ‘กัญชา’ นั้นจัดอยู่ในประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งมีโทษทางอาญากับผู้เสพและผู้ครอบครอง เราจึงเห็นตามข่าวสารต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง เวลาเจ้าหน้าที่จับกุมกัญชาอัดแท่งทั้งรายเล็กรายใหญ่ รวมทั้งกลุ่มคนที่ปลูกต้นกัญชาส่งขายก็มีให้เห็นเช่นกัน

ประเด็นกัญชาเสรีในไทยนั้น เริ่มมาการถกเถียงมาสักระยะหนึ่งแล้ว อาทิ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 58 มีการจัดงานเสวนาในหัวข้อ “ความเป็นไปได้ในการลดทอนความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด: กรณีศึกษากัญชา” เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา โดยมีประเด็นสำคัญ 3 ข้อ ที่มองว่า บทลงโทษรุนแรงเกินไป

การลงทุนปราบปรามกัญชาเสียมากกว่าได้ และการจับกุมทำให้ผู้เสพกัญชามีประวัติอาชญากรติดตัว ทำให้หางานทำยาก  นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานต่างๆจัดเสวนาพูดคุยถึงประเด็น ‘กัญชาเสรี’ ในไทยกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นกระแสข่าวที่คนไทยให้ความสนใจอย่างมาก

จะเห็นได้ว่าในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา มีทั้งหน่วยงาน องค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งกลุ่มคนที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขข้อกฎหมายยาเสพติด พร้อมผลักดันให้มีการศึกษาวิจัย ‘กัญชา’ เพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์อย่างเป็นรูปธรรม

กระทั่งเมื่อวันที่ 14 ก.พ.62 ที่ผ่านมา ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ได้อนุญาตให้องค์การเภสัชกรรมทำการปลูกกัญชาทางการแพทย์ พร้อมทั้งได้ลงนามในหนังสืออนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้องค์การฯ ได้ดำเนินการปลูกกัญชาทางแพทย์ สำหรับเป็นวัตถุดิบนำมาสกัดเป็นสารสกัดกัญชาทางการแพทย์

เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาชนิด น้ำมันหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) สำหรับนำไปใช้ในการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่ร่วมโครงการวิจัย ก่อนมีการประกาศอย่างเป็นทางการจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 ที่ระบุให้ “กัญชา” และ “กระท่อม” สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคได้

โครงการผลิตสารสกัดต้นแบบ ‘กัญชา’ ทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม

“ระยะที่ 1” การปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายต้นแรกในอาเซียน ซึ่งเมล็ดพันธุ์กัญชาที่ใช้ปลูกครั้งนี้เป็นเมล็ดจากสายพันธุ์ลูกผสม ที่มีคุณภาพเมล็ดพันธุ์สูง ปลูกในอาคาร (Indoor) ด้วยเทคโนโลยีระบบรากลอย (Aeroponics) ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในระบบการปลูกกัญชาเกรดมาตรฐานทางการแพทย์ หรือ Medical Grade บนพื้นที่ 100 ตารางเมตร ขององค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

ซึ่งระบบ Aeroponics หรือระบบรากลอย จะทำให้สามารถควบคุมสารอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานและได้ปริมาณสารสำคัญตามสัดส่วนและปริมาณ THC และ CBD ที่เหมาะสมสำหรับมาใช้ทางการแพทย์ และที่สำคัญจะไม่มีการปนเปื้อน โลหะหนักและยาปราบศัตรูพืช ซึ่งหากปลูกกัญชาบนดินทั่วๆ ไป แล้วธรรมชาติของกัญชาจะมีคุณสมบัติพิเศษที่ดูดซึมสารพิษเหล่านั้นได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น

โดยประมาณเดือนกรฎาคม 2562 จะสามารถนำมาสกัดเป็นสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาชนิดน้ำมัน หยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) ได้ประมาณ 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิลิตร

“ระยะที่ 2” โครงการการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม (Pilot Phase) ระยะที่ 2 ใช้งบประมาณ 164.04 ล้านบาท ที่อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี บนพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร มีทั้งปลูกในอาคาร indoor และโรงเรือนปลูกพืช (greenhouse) เพื่อวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์ ที่ให้สารสำคัญสูง และทนต่อโรคต่างๆ และสามารถปลูกในโรงเรือนปลูกพืช ที่ลดต้นทุนลงมาได้ต่อไป การผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์

“ระยะที่ 3” การผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม (Industrial Phase) โดยเริ่มการปลูกและผลิตสารสกัดระดับอุตสาหกรรมแบบครบวงจรภายในเดือนมกราคม 2564 ที่พื้นที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี

พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สำหรับผู้ครอบครองกัญชา

เมื่อวันที่ 26 ก.พ.62 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้มีการประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดให้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชาตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข หรือให้ทำลายกัญชาที่ได้รับมอบจากบุคคล ซึ่งไม่ต้องรับโทษ ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7 ) พ.ศ. 2562 จำนวน 3 ฉบับ เกี่ยวกับการนิรโทษครอบครองกัญชาใน 3 กลุ่ม (อ่านข่าวเพิ่มเติม>>> มีผลแล้ววันนี้ นิรโทษกรรม ผู้ครอบครองกัญชา !!)

โมเดล ‘กัญชาเสรี’ ในต่างประเทศ?

เป็นที่ทราบกันดีว่าในหลายๆประเทศ ทั้งฝั่งอเมริกาเหนือ-ใต้ ฝั่งยุโรป อนุญาตให้มีการปลูกกัญชา ครอบครอง ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ บางประเทศมีการทำธุรกิจกัญชาแบบเสรีสามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ประเทศตัวเอง

ประเทศอุรุกวัย ซึ่งเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้ปลูก จำหน่าย และใช้กัญชาได้ รวมถึงการเสพกัญชาเพื่อนันทนาการเป็นเรื่องถูกกฎหมาย โดยระบุไว้ว่าผู้อาศัยในอุรุกวัยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และลงทะเบียนกับรัฐบาลสามารถซื้อกัญชาจากร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตได้ไม่เกินเดือนละ 40 กรัม อนุญาตให้ปลูกกัญชาภายในบ้านได้ปีละ 6 ต้น และอนุญาตให้ตั้งสมาคมผู้สูบกัญชา 15-45 คน ซึ่งจะปลูกกัญชาได้ปีละ 99 ต้น

โดยทางฝั่งยุโรปอย่าง ประเทศสเปน เป็นประเทศแรกๆ ที่เปิดให้กัญชาถูกกฎหมาย และอนุญาตให้ประชาชนสามารถใช้และปลูกเองภายในบ้านได้ตามจำนวนที่กำหนด แต่ห้ามนำออกมาขายและซื้อ

ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้ปลูกกัญชาในประเทศได้ แต่จำกัดครัวเรือนละ 5 ต้น หากเกินกว่านั้นถือว่าผิดกฎหมาย

กรุงปราก ของสาธารณรัฐเช็ก ก็เป็นอีกเมืองที่สามารถปลูกกัญชาในครอบครองได้ 5 ต้น และพกติดตัวได้สูงสุด 15 กรัม

ประเทศแคนาดา เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการใช้กัญชาสูงที่สุดในโลก สามารถทำรายได้มหาศาลเข้าประเทศมานับทศวรรษ หลังมีการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้รักษาโรคได้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

ในส่วนของประเทศที่ได้ขึ้นชื่อเรื่องเสรีภาพอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกา นั้นมี 14 มลรัฐ ที่สามารถใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้ อาทิ อะแลสกา, แคลิฟอร์เนีย, โคโลราโด, ฮาวาย หรือวอชิงตัน โดยมี 5 มลรัฐ ที่เปิดรับรองให้การซื้อขายครอบครองกัญชา ทั้งเพื่อการแพทย์และสันทนาการ อย่างถูกกฎหมาย ได้แก่ มลรัฐวอชิงตัน  โคโลราโด โอเรกอน  อะแลสกา ตามด้วยแคลิฟอร์เนีย