กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ คดีแตงโม

กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ แนะใช้เครื่องจับเท็จพิสูจน์ข้อเท็จจริง คดีแตงโม

กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา แนะพนักงานสอบสวนใช้เครื่องจับเท็จพิสูจน์ข้อเท็จจริง คดีการเสียชีวิตของแตงโม

Home / NEWS / กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ แนะใช้เครื่องจับเท็จพิสูจน์ข้อเท็จจริง คดีแตงโม

ประเด็นน่าสนใจ

  • กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา แนะพนักงานสอบสวนใช้เครื่องจับเท็จพิสูจน์ข้อเท็จจริง คดีการเสียชีวิตของแตงโม
  • หลังคำให้การพยานบุคคลที่อยู่บนเรือยังขัดกัน
  • ชี้ ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว ตรวจสอบได้ด้วยนิติวิทยาศาสตร์และการสืบสวนสอบสวน คืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต

นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวถึงผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรม และขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคดีการเสียชีวิตของนางสาวภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล อาทิ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี พร้อมด้วยนายศตวรรษ เศรษฐกร หรือ เต๊ะ ตัวแทนครอบครัวแตงโม ร่วมรับฟังข้อมูล

โดยภายหลัง กมธ.รับฟังข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไปยังพนักงานสอบสวนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ควรมีการสอบปากคำพยานบุคคลที่อยู่บนเรือทั้ง 5 คน เพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่าคำให้การยังขัดกันบางประการและไม่ครอบคลุม จึงควรพิสูจน์ด้วยวิธีทางนิติวิทยาศาสตร์ด้วยการใช้เครื่องจับเท็จเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และตรวจสอบเครื่องแต่งกายของแตงโมที่สวมใส่ในวันเกิดเหตุว่ามีคราบเลือดหรือไม่ เพื่อไขข้อสงสัยว่าการเสียชีวิตเกิดขึ้นก่อนหรือหลังตกเรือ

รวมถึงการหาผ้าคลุมสีขาวที่หายไปด้วย นอกจากนี้ยังขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา ด้วยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ มีความรัดกุมและรวดเร็ว เพื่อป้องกันการขยายประเด็นเรื่องดังกล่าวเกินความจำเป็น หรือการตัดต่อด้วยภาพหรือข้อความที่เป็นเท็จ จนทำให้เรื่องดังกล่าวไม่ได้ข้อยุติ

เนื่องจาก กมธ.เห็นว่า ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวและสามารถตรวจสอบได้ด้วยทางนิติวิทยาศาสตร์และการสืบสวนสอบสวน เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต ทั้งนี้การประชุมของ กมธ.สัปดาห์หน้าจะเป็นการพิจารณาเปรียบเทียบรายงานผลการชันสูตรทั้งสองครั้ง ตลอดจนข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหลักฐานอื่นที่เปิดเผยได้และข้อมูลจากวงจรปิดของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือ เพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณาของ กมธ.ต่อไป

ที่มา : วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา