ประเด็นน่าสนใจ
- กระทรวงสาธารณสุข เผย “ยาฟาวิพิราเวียร์” มีประสิทธิภาพ ช่วยผู้ป่วยโควิด 19 อาการดีขึ้น 79%
- ย้ำการจัดหายามารักษาในภาวะโรคมีการระบาด ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย
- ทั้งประสิทธิภาพ ความปลอดภัย จำนวนผู้ป่วย ความสามารถในการจัดหา และการจัดระบบบริการรองรับ โดยมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณา
วันนี้ (19 มี.ค.65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงประเด็นประโยชน์การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 โดย นพ.โอภาสกล่าวว่า เริ่มต้นโรคโควิด 19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ บุคลากรทางการแพทย์จึงต้องหาวิธีในการรักษา
โดยนำยาต้านไวรัสที่ขึ้นทะเบียนใช้อยู่เดิมและมีกลไกการออกฤทธิ์ที่น่าจะยับยั้งเชื้อได้มาทดลองใช้ อาทิ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยารักษาไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น และพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยหลายรายอาการดีขึ้น ซึ่งในสถานการณ์การระบาดที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก การจัดหายามาใช้นอกจากประสิทธิภาพในการรักษาและความปลอดภัย ยังต้องพิจารณาเรื่องของจำนวนผู้ป่วยที่ต้องจัดหายามารองรับ และความสามารถในการจัดบริการด้วย
ซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์ประเทศไทยสามารถจัดหาจำนวนมากได้ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป และมีผลการรักษาที่ดี หากป่วยอาการไม่รุนแรงและใช้รักษาเร็ว จะลดโอกาสเกิดอาการรุนแรงและหายป่วยได้ ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการรักษาและควบคุมป้องกันโรคได้พิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบแล้วจึงตัดสินใจนำมาใช้
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยแบ่งศึกษาในผู้ป่วย 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 62 ราย ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ตามสูตร คือ 1,800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งในวันแรก และ 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง อีก 4 วัน ส่วนกลุ่มที่สอง 31 ราย ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ติดตามจากการประเมินอาการของผู้ป่วยและวัดปริมาณไวรัสในโพรงจมูก
พบว่า ภายใน 14 วัน กลุ่มที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์มีอาการดีขึ้น 79% ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับยาอาการดีขึ้น 32.3% โดยผู้ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์มีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ของการรักษา และในวันที่ 13 และ 28 ของการรักษาจะมีปริมาณไวรัสต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยา แต่มีข้อจำกัด คือ หากรักษาช้าและอาการค่อนข้างหนัก ประสิทธิภาพของยาจะไม่ดีนัก
“กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ไม่มีการนำยาที่ไม่มีประสิทธิภาพ/ประสิทธิผล หรือเป็นอันตรายมาใช้รักษาผู้ป่วย และที่ผ่านมามีผู้ป่วยโควิด 19 ได้รับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์เกินกว่าล้านคน ช่วยลดการเสียชีวิต ทำให้หายป่วยกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ และช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้ จึงขอให้เชื่อมั่นในยาที่ใช้รักษา”นพ.โอภาสกล่าว
สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์มีการใช้มาแล้ว 2 ปี ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์มีอาการดีขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยา โดยเฉพาะในช่วง 14 วัน ส่วนยาเรมดิซิเวียร์ มีกลไกการออกฤทธิ์ตำแหน่งเดียวกับยาฟาวิพิราเวียร์ ได้รับการรับรองจาก อย.สหรัฐฯ ให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน
โดยให้ทางหลอดเลือดดำสำหรับผู้ที่รับประทานไม่ได้ มีปัญหาเรื่องการดูดซึมยา และใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ จากการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ป่วยมีอาการน้อยลง และช่วยลดการนอนโรงพยาบาลเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับยาหลอกส่วนยาอีก 2 รายการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ ยาโมลนูพิราเวียร์ กำลังเตรียมการกระจายยา กลไกออกฤทธิ์จุดเดียวกับยาฟาวิพิราเวียร์ ช่วยให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรง
และยาแพกซ์โลวิด กำลังดำเนินการจัดหาเข้ามา มีกลไกการออกฤทธิ์ที่เอนไซม์ทำให้เชื้อลดจำนวนลง ไม่สามารถเกิดผลกับโรคได้ ช่วยลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลลง 88% กรณีให้ยาภายใน 5 วันหลังมีอาการ คาดว่าจะเข้ามาในกลางเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจากการติดตามการใช้ยามาสักระยะ
พบว่าแต่ละตัวมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน เช่น เรมดิซิเวียร์ช่วยกลุ่มอาการปานกลาง ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ ยาฟาวิพิราเวียร์ให้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 2 และ 3 แต่โมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิด มีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร รวมถึงเป็นยาใหม่จึงมีราคาสูงถึงคอร์สละ 1 หมื่นบาท ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ราคาคอร์สละ 800 บาท และเรมดิซิเวียร์ 1,512 บาท นพ.มานัสกล่าวในตอนท้าย