ปีที่ผ่านมา กทม. คุมเข้มจัดระเบียบทางเท้า ร้านค้าหาบเร่แผงลอย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากทางเท้าอย่างเต็มที่ ด้านพ่อค้าแม่ค้าต่างคัดค้าน เนื่องจากทำให้ยอดขายลดลง
ตลอดปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้เดินหน้ามาตรการจัดระเบียบครั้งใหญ่ ทั้งย่านเศรษฐกิจและย่านที่มีประชาชนสัญจรจำนวนมาก จนเกิดปัญหาทางเท้าไม่เป็นระเบียบเต็มไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร และหาบเร่แผงลอย ที่ตั้งวางขาย ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
ทั้งทางเท้าย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ร่วมไปถึงการจัดระเบียบวินรถตู้โดยสาร , ทางเท้าย่านสยามสแควร์ , บริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ฝั่งถนนพหลโยธิน , ปากคลองตลาด และจุดท่องเที่ยวสำคัญอย่างเส้นถนนข้าวสาร
ระหว่างที่ กทม. ดำเนินการจัดระเบียบทางเท้า ก็เป็นเวลาเดียวกันที่ประเทศไทยได้รับการโหวตให้เป็นมหานครแห่ง Street Food ซึ่งถือเป็นสเน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศได้ไม่น้อย ด้วยเอกลักษณ์ของอาหารที่มีรสชาติอร่อย ราคาย่อมเยา ที่สำคัญคือสามารถหาซื้อได้ง่ายตามข้างทาง
ด้าน นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินหน้าจัดระเบียบเมืองอย่างต่อเนื่องหวังพลิกโฉมใหม่ให้ทางเท้าเมืองหลวง แม้จะมีเสียงต่อต้านจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าไม่น้อย เนื่องจากส่งผลกระทบกับยอดขายสินค้าและความนิยมของนักท่องเที่ยว แต่ก็ยังยืนยันว่าจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อคืนทางเท้าให้คน กทม.
แม้จะมีการออกมาตรการ 5 ไม่ ประกอบด้วย 1.ไม่จอดหรือขับขี่รถบนทางเท้า 2.ไม่มีหาบเร่ แผงลอยที่ผิดหลักเกณฑ์หรือผิดกฎหมาย 3.ไม่มีป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมาย 4.ไม่มีสิ่งปฏิกูลหรือขยะมูลฝอย 5.ไม่ตั้งวางกระถางต้นไม้หรือสิ่งใดๆ บนทางเท้าหรือที่สาธารณะ
ทั้งนี้ยังพบถนนบางสายที่แม้จะถูกจัดระเบียบไปแล้ว แต่ยังคงมีผู้ค้าฉวยโอกาสตั้งร้านลับหลังเจ้าหน้าที่อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยอีกมาตรการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนั่นก็คือมาตรการจับจริง-ปรับจริง
รถจักรยานยนต์ที่รุกล้ำขึ้นมาบนทางเท้า มีการเพิ่มอัตราค่าปรับจากเดิม 500 บาท เป็น 1000 บาท และยังเพิ่มจุดจับปรับจากเดิมที่มีอยู่ 115 จุด เป็น 233 จุด อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชนแจ้งเบาะแสการกระทำผิดโดยจะได้ส่วนแบ่งจากค่าปรับครึ่งหนึ่งอีกด้วย
จากสถิติของ กทม. เขตวังทองหลาง เป็นเขตที่ฝ่าฝืนกฎมากที่สุด รองลงมา คือ เขตสวนหลวง เขตลาดกระบัง และเขตวัฒนา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมมีประชาชนแจ้งร้องเรียน กว่า 10,000 ราย มีการส่งเงินรางวัลให้กับผู้แจ้งแล้ว 2,000 ราย
ทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาละเมิดสิทธิบนทางเท้ายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยากจะแก้ไขหากขาดความร่วมมืออย่างจริงจังจากภาคประชาชนและการดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดของเจ้าหน้าที่