กบคอร์โรโบรี กบมีพิษ ออสเตรเลีย

เล็กกว่านิ้ว! ออสเตรเลียปล่อย ‘กบมีพิษ’ ตัวจิ๋วกลับคืนธรรมชาติ

โครงการเซฟวิง อาวเวอร์ สปีชีส์ ของออสเตรเลีย ปล่อยกบคอร์โรโบรี จำนวน 100 ตัว สู่พื้นที่ป่าปิดในรัฐนิวเซาธ์เวลส์

Home / NEWS / เล็กกว่านิ้ว! ออสเตรเลียปล่อย ‘กบมีพิษ’ ตัวจิ๋วกลับคืนธรรมชาติ

ประเด็นน่าสนใจ

  • โครงการเซฟวิง อาวเวอร์ สปีชีส์ ของออสเตรเลีย ปล่อยกบคอร์โรโบรี จำนวน 100 ตัว สู่พื้นที่ป่าปิดในรัฐนิวเซาธ์เวลส์
  • ฟื้นฟูประชากรกบสายพันธุ์นี้ที่ลดน้อยลง และช่วยพวกมันปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมป่าอีกครั้ง
  • กบคอร์โรโบรีเป็นสัตว์มีพิษ อาศัยอยู่บนดินในพื้นที่ขนาดเล็กแถบป่ากึ่งอัลไพน์ของรัฐนิวเซาธ์เวลส์

โครงการเซฟวิง อาวเวอร์ สปีชีส์ (Saving our Species) ปล่อยกบคอร์โรโบรี จำนวน 100 ตัว สู่พื้นที่ป่าปิดในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ของออสเตรเลีย (NSW) เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน เพื่อพยายามฟื้นฟูประชากรกบสายพันธุ์นี้ที่ลดน้อยลง และช่วยพวกมันปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมป่าอีกครั้ง

กบคอร์โรโบรีเป็นสัตว์มีพิษ อาศัยอยู่บนดินในพื้นที่ขนาดเล็กแถบป่ากึ่งอัลไพน์ของรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ลำตัวมีลวดลายสีเหลืองสดตัดกับสีดำ ซึ่งทำให้พวกมันเป็นที่รู้จักอย่างมากและเป็นสัญลักษณ์เตือนเหล่านักล่าให้ออกห่าง

เจมส์ กริฟฟิน รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและมรดกของนิวเซาธ์เวลส์ เผยว่ามีการปล่อยกบคอร์โรโบรีสู่พื้นที่ปิดที่สร้างขึ้นในอุทยานแห่งชาติคอสซีอัสโก ซึ่งจะช่วยปกป้องพวกกบจากโรคร้าย และปล่อยให้พวกมันเติบโตต่อไป

กบคอร์โรโบรีถูกขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในปี 2004 และถูกจัดเป็นหนึ่งในสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์มากที่สุดของออสเตรเลีย เนื่องจากจำนวนประชากรลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 1970 โดยมีสาเหตุหลักจากการติดเชื้อราที่นำเข้ามาโดยไม่ได้ตั้งใจ กอปรกับปัญหาฤดูแล้ง ความเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ และไฟป่ารุนแรง ซึ่งส่งผลให้จำนวนประชากรกบดังกล่าวในป่าลดเหลือเพียงราว 30 ตัว

โครงการ “เซฟวิง อาวเวอร์ สปีชีส์” ร่วมมือกับสวนสัตว์ทารงกาในซิดนีย์ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์กบข้างต้น จัดโครงการ “สำรองประชากร” โดยมีกบสายพันธุ์นี้อยู่ภายใต้การดูแลราว 400 ตัว อีกทั้งกำลังทำงานเพื่อฟื้นฟูประชากรสัตว์ใกล้สูญพันธุ์จำนวนหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ อาทิ โคอาลา วอลลาบีหินหางพุ่ม และต้นสนวอลลีเมียอันเก่าแก่ด้วย

ด้านไมเคิล แมคแฟดเดน ผู้ดูแลหน่วยสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำแห่งสมาคมอนุรักษ์ทารงกา ระบุว่าการกำหนดเวลาปล่อยกบคอร์โรโบรีสำคัญต่อการอยู่รอดของพวกมัน โดยจะทำให้กบดังกล่าวมีเวลาปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่เพียงพอ และเตรียมพร้อมสำหรับการจำศีลก่อนฤดูหนาว

ที่มา : Xinhua