ประเด็นน่าสนใจ
- กลุ่มแรงงานไทย เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกฯ
- เรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิของสตรี พร้อมอ่านแถลงการณ์ 8 ข้อเรียกร้อง
- อาทิ การคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา / การขจัดความรุนแรง และการล่วงละเมิด / กำหนดให้วันที่ 8 มี.ค. ของทุกปีเป็นวันหยุดตามประเพณี
วันนี้( 8 มีนาคม 65 ) ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนน ราชดำเนินกลาง แขวง วัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมจัดกิจกรรมในงานวันสตรีสากลประจำปี 2565
นำโดย นางอภันตรี เจริญศักดิ์ โดยเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทำเนียบรัฐบาล ประตู 5 เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิของสตรี พร้อมอ่านแถลงการณ์ 8 ข้อเรียกร้องดังนี้
- 1. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา
- 2. รัฐต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 100%
- 3. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรง และการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน
- 4. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้านและอนุสัญญา IL0 ฉบับที่ 177 ว่าด้วยงานที่รับไปทำที่บ้านเพื่อให้แรงงาน ได้รับการคุ้มครองอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม
- 5. รัฐต้องกำหนดมาตรการเพื่อขจัดการละเมิดสิทธิแรงงานทุกรูปแบบรวมถึงหามาตรการ ปกป้อง คุ้มครอง และเยียวยา เพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงานและเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม
- 6. รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท
- 7. รัฐต้องกำหนดสัดส่วนผู้หญิงและเพศสภาพในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ อย่างน้อย 1 ใน 3
- 8. รัฐต้องกำหนดให้วันที่ 8 มี.ค. ของทุกปีเป็นวันหยุดตามประเพณี
อย่างไรก็ตามวันที่ 8 มีนาคม 2565 เป็นวันที่มีความหมายพิเศษ ในฐานะ วันสตรีสากล ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญกับผู้หญิง วันสตรีสากลเป็นการเฉลิมฉลองในวันที่ 8 มีนาคมของทุกปีทั่วโลก และเป็นจุดสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี (International Women’s Day หรือ IWD) ถือกำเนิดมาจากขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงาน จนกลายเป็นวันสำคัญประจำปีของโลกที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้การรับรอง
ภาพ : วิชาญ โพธิ