ประเด็นน่าสนใจ
- วลาดิเมียร์ ปูติน ลงนามกฤษฎีกาสองฉบับ ซึ่งรับรอง “สาธารณรัฐประชาชนลูกันสก์” (LPR) และ “สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์”
- ปูตินมีคำสั่งให้กองกำลังรัสเซียดำเนินงานเพื่อรับประกันสันติภาพใน “ประเทศ” ทั้งสอง
- วิกฤตความมั่นคงของยุโรปเกิดจากการขยายตัวมาทางตะวันออกของนาโต นำไปสู่การสูญเสียความไว้วางใจซึ่งกันและกันกับรัสเซีย
วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ลงนามกฤษฎีกาสองฉบับ ซึ่งรับรอง “สาธารณรัฐประชาชนลูกันสก์” (LPR) และ “สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์” (DPR) ในฐานะรัฐเอกราช ณ ทำเนียบเครมลิน
แถลงการณ์จากทำเนียบเครมลินระบุว่าปูติน ยังลงนามสนธิสัญญามิตรภาพ ความร่วมมือ และความช่วยเหลือซึ่งกันและกันของรัสเซียกับสาธารณรัฐประชาชนลูกันสก์ และสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ กับผู้นำ “สาธารณรัฐ” ทั้งสองแห่งด้วย
ปูตินเผยความจำเป็นของการตัดสินใจในสิ่งที่ยืดเยื้อมานาน ได้แก่ การรับรองอำนาจอธิปไตยของสองสาธารณรัฐดังกล่าวทันที รัสเซียได้ทำทุกอย่างแล้วเพื่อรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนยูเครน ดังจะเห็นได้จากการต่อสู้เพื่อปฏิบัติตามข้อตกลงมินสก์ 2015 ทว่าความพยายามทั้งหมดกลับจบลงโดยเปล่าประโยชน์
ปูตินกล่าวว่าปัจจุบันเกิดเหตุยิงในภูมิภาคดอนบาสส์ทุกวันและ “ไม่มีท่าทีจะสิ้นสุดลง” พร้อมเน้นย้ำว่าวิกฤตความมั่นคงของยุโรปเกิดจากการขยายตัวมาทางตะวันออกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียความไว้วางใจซึ่งกันและกันกับรัสเซีย
ขณะเดียวกันปูตินมองว่านาโตมีแนวโน้มยอมรับยูเครนเป็นรัฐสมาชิกอยู่แล้ว และจะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในอาณาเขตยูเครน อันจะยกระดับภัยคุกคามทางทหารต่อรัสเซียขึ้นอย่างมาก
ก่อนหน้านี้รัสเซียตั้งคำถามประเด็นการรับประกันความมั่นคงต่อสหรัฐฯ และนาโต แต่ประเทศตะวันตกกลับเพิกเฉยข้อกังวลพื้นฐานของรัสเซีย และไม่มีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนอันใด รัสเซียจึงมีสิทธิทุกประการที่จะใช้มาตรการตอบโต้เพื่อรับประกันความมั่นคงของตนเอง
ปูตินกล่าวว่าตนทราบดีว่าชาติตะวันตกกำลังพยายาม “ขู่” รัสเซียอีกครั้งด้วยการคว่ำบาตร ทว่าเขาเชื่อว่าการคว่ำบาตรจะดำเนินต่อไปเพียงเพราะรัสเซียยังคงอยู่ ไม่ว่าสถานการณ์ในยูเครนจะเป็นอย่างไรก็ตาม
ทั้งนี้ หลังจากรับรองความเป็นอิสระของสาธารณรัฐประชาชนลูกันสก์และสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ ปูตินมีคำสั่งให้กองกำลังรัสเซียดำเนินงานเพื่อรับประกันสันติภาพใน “ประเทศ” ทั้งสอง
ก่อนหน้านี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งรัสเซียได้จัดประชุมวิสามัญ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศสนับสนุนการรับรอง “สาธารณรัฐ” สองแห่งข้างต้น
ช่วงเย็นวันจันทร์ (21 ก.พ.) ปูตินได้สนทนาทางโทรศัพท์กับเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่ง “แสดงความผิดหวัง” ต่อแผนการรับรองสองสาธารณรัฐนี้ของปูติน แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็แสดงความพร้อมที่จะคงการติดต่อสื่อสารต่อไป
ที่มา : Xinhua