งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ งานสงวนสิทธิ์เฉพาะคนไทย ช่างตัดผม

กระทรวงแรงงานเตือนอาชีพ “ช่างตัดผม” สงวนสิทธิ์เฉพาะคนไทย

จากกรณีช่างตัดผมชาวเกาหลี ที่มีการกล่าวถึงบนสื่อออนไลน์ และมีการถกเถียงว่า อาชีพ "ช่างตัดผม" เป็นอาชีพที่ชาวต่างชาติสามารถทำได้หรือไม่

Home / NEWS / กระทรวงแรงงานเตือนอาชีพ “ช่างตัดผม” สงวนสิทธิ์เฉพาะคนไทย

ประเด็นน่าสนใจ

  • จากกรณีช่างตัดผมชาวเกาหลี ที่มีการกล่าวถึงบนสื่อออนไลน์ และมีการถกเถียงว่า อาชีพ “ช่างตัดผม” เป็นอาชีพที่ชาวต่างชาติสามารถทำได้หรือไม่
  • กรมการจัดหางาน แจง อาชีพ “ช่างตัดผม” สงวนสิทธิ์เฉพาะคนไทย
  • แจง 40 งานห้าม แรงงานข้ามชาติทุกสัญชาติห้ามทำโดยเด็ดขาด ฝ่าฝืนมีโทษทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง โดยไม่มีข้อยกเว้น

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีช่างตัดผมชาวเกาหลี ที่มีการกล่าวถึงบนสื่อออนไลน์ และมีการถกเถียงว่า อาชีพ “ช่างตัดผม” เป็นอาชีพที่ชาวต่างชาติสามารถทำได้หรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว กรมการจัดหางานขอชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่ประกาศไว้ในพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมว่า สำหรับประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีทั้งสิ้น 40 งาน เป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน ตามบัญชีที่ 1 ได้แก่

  • 1.งานแกะสลักไม้
  • 2.งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (Forklift)
  • 3.งานขายทอดตลาด
  • 4.งานเจียระไนเพชร/พลอย
  • 5.งานตัดผม/เสริมสวย
  • 6.งานทอผ้าด้วยมือ
  • 7.งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ
  • 8.งานทำกระดาษสาด้วยมือ
  • 9.งานทำเครื่องเขิน
  • 10.งานทำเครื่องดนตรีไทย
  • 11.งานทำเครื่องถม
  • 12.งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก
  • 13.งานทำเครื่องลงหิน
  • 14.งานทำตุ๊กตาไทย
  • 15.งานทำบาตร
  • 16.งานทำผ้าไหมด้วยมือ
  • 17.งานทำพระพุทธรูป
  • 18.ทำร่มกระดาษ/ผ้า
  • 19.งานนายหน้า/ตัวแทน
  • 20.งานนวดไทย
  • 21.งานมวนบุหรี่
  • 22.งานมัคคุเทศก์
  • 23.งานเร่ขายสินค้า
  • 24.งานเรียงอักษร
  • 25.งานสาวบิดเกลียวไหม
  • 26.งานเลขานุการ
  • 27.งานบริการทางกฎหมาย

และงานที่ให้คนต่างด้าวทำได้โดยมีเงื่อนไข 13 งาน ตามบัญชีที่ 2 ได้แก่ วิชาชีพบัญชี วิชาชีพวิศวกรรม วิชาชีพสถาปัตยกรรม โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นคนต่างด้าวของประเทศที่มีข้อตกลงกับประเทศไทยเท่านั้น จึงจะสามารถทำได้ ตามบัญชี 3

ได้แก่ 1.งานกสิกรรม 2.งานช่างก่ออิฐ/ช่างไม้/ช่างก่อสร้างอาคาร 3.งานทำที่นอน 4.งานทำมีด 5.งานทำรองเท้า 6.งานทำหมวก 7.งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 8.งานปั้นเครื่องดินเผา โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง และตามบัญชีที่ 4 ได้แก่ งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU)

ปราบปราม จับกุม หากพบกระทำผิด

“นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำชับกรมการจัดหางาน บริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวอย่างรอบคอบและรัดกุม โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่แย่งอาชีพคนไทย ซึ่งขณะนี้มีการมอบหมาย สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีคนต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมายฯอย่างจริงจัง หากตรวจพบการฝ่าฝืกฎหมาย คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ

และในส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่พบเห็นการจ้างคนต่างด้าวทำงานโดยผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องทุกข์ได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วน 1694 กรมการจัดหางาน หรือแจ้งเบาะแสโดยตรงที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน โทร. 02 354 1729