ข่าวสดวันนี้ จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว สิมิลัน

มหากาพย์ ‘จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว’ ชนวนขัดแย้งกรมอุทยานฯ-เอกชนพังงา

มาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งจากชาวต่างชาติ และภายในประเทศเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี แต่สิ่งที่น่ากังวลอย่างหนึ่งคือจำนวนนักท่องเที่ยวมีมากนั้น อาจทำให้แหล่งธรรมชาติภายในประเทศหลายส่วนถูกทำลายได้เช่นกัน แม้ ‘อุทยานแห่งชาติ’ จะถูกจำกัดความให้เป็นเขตบริเวณพื้นที่ซึ่งสงวนไว้เพื่อรักษาและทำการคุ้มครองทรัพยากรทางธรรมชาติ ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม ทั้งยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญ และเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากความมีทัศนียภาพอันโดดเด่น สวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมากมายมหาศาล…

Home / NEWS / มหากาพย์ ‘จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว’ ชนวนขัดแย้งกรมอุทยานฯ-เอกชนพังงา

มาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งจากชาวต่างชาติ และภายในประเทศเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี แต่สิ่งที่น่ากังวลอย่างหนึ่งคือจำนวนนักท่องเที่ยวมีมากนั้น อาจทำให้แหล่งธรรมชาติภายในประเทศหลายส่วนถูกทำลายได้เช่นกัน

แม้ ‘อุทยานแห่งชาติ’ จะถูกจำกัดความให้เป็นเขตบริเวณพื้นที่ซึ่งสงวนไว้เพื่อรักษาและทำการคุ้มครองทรัพยากรทางธรรมชาติ ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม ทั้งยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญ และเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากความมีทัศนียภาพอันโดดเด่น สวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมากมายมหาศาล

ปมความขัดแย้ง จากการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ‘สิมิลัน’

สืบเนื่องจากวันที่ 4 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา มีการประกาศในราชกิจจานิเบกษา ประกาศปิดการพักค้างแรมในเขตอุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน โดยกำหนดรูปแบบการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันเป็นแบบไป-กลับ พร้อมทั้งจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวอุทยานไม่เกินวันละ 3,850 คน โดยให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวที่มาค้างแรมทำให้เกิดน้ำเสีย สร้างความเสียหายต่อปะการัง สัตว์น้ำ รวมถึงระบบนิเวศ และเพื่อเป็นการพัฒนาอุทยานแห่งชาติของไทย ให้ได้มาตรฐานในระดับสากล หลังจากมีการศึกษาถึงผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวมานานนับ 10 ปี

นอกจากนี้ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ยังยืนยันคงมาตรการจำกัดนักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวอุทยานดัง 10 แห่งทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการทะลักเที่ยวช่วงวันหยุดยาวและช่วงฤดูหนาว เพราะทำให้เกิดความแออัด รวมถึงป้องกันธรรมชาติเสื่อมโทรม โดยมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้มากว่า 11 ปีแล้ว

ไทม์ไลน์ข้อพิพาท เกาะสิมิลัน ปมจำกัดนักท่องเที่ยวที่ยังไม่สิ้นสุด

  • 10 ม.ค. 2561

นายทรงธรรม สุขสว่าง ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงปัญหาท่องเทียวล้น รวมถึงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของนักท่องเที่ยวบางส่วน ส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะอุทยานฯ ทางทะเลที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีชื่อหมู่เกาะสิมิลันเป็นหนึ่งในอุทยานฯที่ติดโผเช่นเดียวกัน

  • 8 มี.ค. 2561

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เผยภาพปะการังตายซากบริเวณหมู่เกาะสิมิลัน พร้อมแนะนำให้มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว

  • 17 พ.ค. 2561

นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศปิดเกาะสิมิลัน เกาะสุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.- 15 ต.ค.61 เป็นต้นไปเป็นระยะเวลา 5 เดือนตามหลักวิชาการและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติ

  • 4 ต.ค. 2561

กรมอุทยานประกาศเรื่องการปิดการพักแรมอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ให้ท่องเที่ยวแบบไป-กลับ ไม่อนุญาตให้ค้างคืน เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความเสียหายของปะการัง สัตว์น้ำ และระบบนิเวศ

  • 15 ต.ค. 2561

นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืชแนะนำให้ผู้ประกอบการขึ้นค่าแพคเก็จทัวร์ที่ขายให้กับชาวต่างชาติ เพื่อจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว

  • 16 ต.ค.2561

ผู้ประกอบการเรือนำเที่ยว รวมตัวหยุดประท้วง เรียกร้องให้กรมอุทยานแห่ง ชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทบทวนมาตรการลดจำนวนนักท่องเที่ยวเหลือเพียง 3,850 คน ทำให้บรรยากาศบนหมู่เกาะสิมิลันเงียบเหงา

  • 17 ต.ค. 2561

กรมอุทยานฯ เปิดสำรวจความคิดเห็นเรื่องการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว พบว่าประชาชน 98 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยกับมาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว

  • 31 ธ.ค. 2561

ศาลปกครองภูเก็ตสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นเกาะสิมิลัน

  • 1 ม.ค. 2562

ดีเดย์วันแรก หลังกรมอุทยานฯ จัดระเบียบ ปรับค่าเรือเข้า ‘เกาะสิมิลัน’ อัตราใหม่ 500-2,000 บาท

  • 2 ม.ค. 2561

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ย้ำเตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง ปมทุเลากำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวเข้า “หมู่เกาะสิมิลัน” ย้ำมีเป้าหมายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น

ผลกระทบต่อผู้ประกอบการกรณีจำกัดนักท่องเที่ยวหมู่เกาะสิมิลัน

โดยปกติในฤดูกาลท่องเที่ยวของจังหวัดพังงานั้น จะมีนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวที่หมู่เกาะสิมิลัน เฉลี่ย 4,284 คนต่อวัน และสูงสุดถึง 7,302 คนต่อวัน ผลที่ตามมาคือการมีนักท่องเที่ยวมากจนเกิดการแออัด ทางกรมอุทยานแห่งชาติจึงได้ทำการวิจัยและกำหนดโควต้านักท่องเที่ยวให้กับบริษัทฯที่ได้รับอนุญาตจำนวน 50 ราย ๆ ละ 35 คน คิดเป็น 51% ของนักท่องเที่ยวที่กำหนด ที่เหลืออีก 49% ได้ทำการเปิดให้แต่ละบริษัทแข่งขันการจอง เพื่อเป็นการกระจายออกไปให้กับทุกบริษัท ซึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปนั้นทางผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีเรือ 1-2 ลำ จะประสบปัญหาแบกรับต้นทุนทันที

นอกจากนี้บรรดาห้องพักโรงแรม ร้านค้าและแรงงานกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเล ได้เข้ายื่นหนังสือผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อเดือน ต.ค. 2561 ให้การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อระบบท่องเที่ยว ซึ่งใกล้จะเริ่มเปิดฤดูการท่องเที่ยวใหม่แล้วในวันที่15 ตุลาคม 2561-15 พฤษภาคม 2562 โดยกลุ่มผู้ประกอบการได้เสนอให้ควบคุมนักท่องเที่ยวจากอัตราค่าเฉลี่ย 4,284 คนต่อวัน ก่อนแล้วค่อยปรับลดจนถึงจำนวนที่เหมาะสมภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ และทำการพิจารณาโควต้าใหม่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีเรือ 3-9 ลำ และ 10 ลำขึ้นไปตามลำดับ

'อ่าวมาหยา'
‘อ่าวมาหยา’

บทเรียนสำคัญจาก ‘อ่าวมาหยา’

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย ที่เติบโตอย่างเร็วเกินไป  อาจทำให้โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงวิถีชุมชน วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาจเป็นชนวนที่ทำให้แหล่งท่องเที่ยวนั้นเสื่อมโทรม ไม่ยั่งยืน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ อ่าวมาหยา ซึ่งอดีตเคยเป็นอ่าวที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

โดยหลังจากอ่าวมาหยา เป็นสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่อง  The beach ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากทั้งไทยและต่างประเทศแห่กันมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก จนต่อมากรมอุทยานฯ ประกาศปิดทำการเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศจนกว่าจะมีการฟื้นคืนสู่ภาวะปกติอย่างไม่มีกำหนด

นอกจากนี้ภายหลังการถ่ายทำหนังเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีการใช้แพขนานยนต์ไปเทียบ เพื่อขนย้ายเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ขึ้นฝั่ง พบว่าสันทรายเกิดรอยเว้า ถูกน้ำทะเลกัดเซาะทั้งยังมีการปรับพื้นที่ปลูกต้นมะพร้าว และสร้างที่พักชั่วคราว ทำลายพืชประจำถิ่น ทำลายความสวยงามของอ่าว จนกระทั่งเป็นเรื่องฟ้องร้อง และเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท