ประเด็นน่าสนใจ
- ราคาเนื้อหมูในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีการปรับราคาลงมา
- ราคาจำหน่ายหมูเนื้อแดง ส่วนสะโพก ไหล่ ไม่รวมหมูเนื้อแดงปรุงแต่ง อยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 164-170 บาท
- โฆษกรัฐบาล เผยเป็นผลมาจากการสั่งการของ “นายกฯ” ย้ำชัด รัฐบาลแก้ปัญหารวดเร็วและถูกจุด มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน
วันนี้ (10 ก.พ. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ราคาเนื้อหมูซึ่งเป็นสินค้าที่เฝ้าระวัง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีการปรับราคาลงมาอย่างเห็นได้ชัดแล้ว โดยราคาจำหน่ายหมูเนื้อแดง ส่วนสะโพก ไหล่ ไม่รวมหมูเนื้อแดงปรุงแต่ง อยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 164-170 บาท ลดจากสัปดาห์ที่แล้ว (วันที่ 30 ม.ค.) ที่ราคาเฉลี่ยทั้งประเทศ กก. ละ 187 บาท
และตอนนี้เฉลี่ยทั้งประเทศ กก.ละ 175 บาท ทั้งนี้เป็นไปตามการสั่งการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้มีการกำกับติดตามสถานการณ์ราคาสินค้า แก้ไขปัญหาและดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนและกระทำความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
โดยได้มีการจัดชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจออกตรวจสอบห้องเย็น และโรงเชือด ที่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดให้แจ้งการเก็บสต๊อกเนื้อหมูตั้งแต่ 5,000 กก. ขึ้นไป โดยมีผู้แจ้ง 404 ราย มีเนื้อหมูในสต๊อก 15.5 ล้าน กก. สำหรับรายที่ไม่แจ้ง ก็มีการตรวจสอบด้วย โดยตรวจรวม 616 ราย รวมมีเนื้อหมู 19.5 ล้าน กก. พบผู้กระทำผิด 12 ราย ส่งฟ้องและมีคำพิพากษาแล้ว 3 ราย อยู่ระหว่างดำเนินคดี 9 ราย
นอกจากนี้ยังจัดชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจออกตรวจสอบสถานการณ์ราคาสินค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งในกรุงเทพฯ ได้ตรวจสอบตลาดสด 103 แห่ง ห้างค้าส่งค้าปลีก 101 แห่ง และในต่างจังหวัดก็ตรวจสอบทั้งตลาดสด และห้างเช่นเดียวกัน โดยรายที่พบการกระทำผิดกฎหมาย เช่น ไม่ปิดป้ายแสดงราคา ขายเกินราคา ได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว
ราคาสินค้าทยอยปรับราคาลง
ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคจำเป็นอื่น ๆ ก็เริ่มทยอยปรับราคาลงเช่นกัน อาทิ เนื้อไก่ ราคาจำหน่ายในห้าง เนื้อน่องติดสะโพก กก. ละ 65 บาท ส่วนในตลาดสด ราคาแตกต่างกันแต่ละพื้นที่ เฉลี่ยอยู่ที่ กก. ละ 70-75 บาท และคาดว่าแนวโน้มราคาจะยังทรงตัวต่อไป ส่วนน้ำมันพืชปาล์ม ราคาที่สำรวจจากร้านสะดวกซื้ออยู่ที่ขวดลิตรละ 64-65 บาท และในห้าง 61-62 บาท
โดยราคามีแนวโน้มลดลงและทรงตัวในระดับนี้ต่อไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ผักสดมีราคาทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ตามแต่ละพื้นที่ โดยมีต้นทุนค่าขนส่งเป็นตัวแปร ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคทั่ว ๆ ไป ราคาทรงตัว ยกเว้นภาคใต้ ที่ราคาอาจจะสูงกว่าภาคอื่นเล็กน้อย เนื่องจากมีต้นทุนในเรื่องค่าขนส่งจากระยะทางที่ไกล