ประเด็นน่าสนใจ
- สำนักการโยธาได้เข้าปรับปรุงภูมิทัศน์ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องย่านธุรกิจสำคัญใจกลางเมือง เพื่อปรับปรุงทางเท้า
- ปัญหาทางเท้า ส่งผลต่อประชาชนทางเดินเท้าผ่านไปมา ทั้งปัญหา ฝาท่อ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา กระถางต้นไม้ หรือแม้กระทั่งทางเท้าที่ชำรุด
- ทางเท้าบริเวณถนนพระรามที่ 1 (ย่านสยาม) ที่เป็นพื้นที่นำร่องในการปรับปรุงภูมิทัศน์
ปัญหาทางเท้าริมถนน หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ฟุตปาธ“ ในกรุงเทพมหานคร เป็นเส้นทางการเดินทางที่สำคัญสำหรับประชาชนไม่แพ้ถนน ที่ผ่านมาทางเดินเท้าเหล่านี้กลับถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ในวงสนทนาประสาเพื่อนลามไปจนถึงโลกออนไลน์
เนื่องจากทางเท้าในหลายพื้นที่ยังเดินไม่สะดวก เพราะเต็มไปด้วยอุปสรรคทั้งฝาท่อ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา กระถางต้นไม้ หรือที่หนัก ๆ ฟุตปาธชำรุดเสียหาย เป็นหลุมเป็นบ่อ มีน้ำขัง กระเบื้องแตก เกิดการร้องเรียนเพื่อให้แก้ไขมาตลอด ไม่นับการโพสต์รูปฟุตปาธลงโซเชียลมีให้เห็นเป็นประจำ
โดยวันนี้ ( 9 ก.พ. 65) ทีมข่าว MThai ลงพื้นที่บันทึกภาพทางเท้า บริเวรแยกปทุมวันฝั่งสยามสแควร์ พบว่าทางเท้าบางส่วนใกล้แล้วเสร็จ ขณะเดียวกันฟุตปาธฝั่งสยามดิสคัฟเวอรี่ อยู่ระหว่างดําเนินการ ทั้งนี้โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนพระรามที่ 1 ช่วงจากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ เขตปทุมวัน
โดยสำนักการโยธาได้เข้าปรับปรุงภูมิทัศน์ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องย่านธุรกิจสำคัญใจกลางเมือง เพื่อปรับปรุงทางเท้า ภูมิทัศน์ ป้ายโฆษณา ตู้ไฟฟ้า จุดจอดมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และจัดระเบียบสาธารณูปโภค ให้เป็นต้นแบบการปรับปรุงทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ เพจเฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯ อัศวิน โพสต์เปรียบเทียบทางเท้าบริเวณถนนพระรามที่ 1 (ย่านสยาม) ที่มีคนสัญจรแต่ละวันหนาแน่น โดยทางกรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงใหม่ พร้อมแจ้งว่า “ที่นี่คือต้นแบบทางเท้าของกรุงเทพฯ” ในโพสต์ บอกว่า “ทางเท้าเดินไม่ได้” เป็นปัญหาที่ กทม. เราพยายามแก้ไขมานาน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน แต่ในอดีตที่ผ่านมา ทางเท้าในกรุงเทพฯ นั้น “เดินไม่ได้” เพราะมีสิ่งกีดขวางมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฝาท่อ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา กระถางต้นไม้ รวมถึงร้านค้าต่าง ๆ ที่ตั้งแผงขายของบนทางเท้า
หนึ่งในทางเท้าที่มีปัญหามากคือทางเท้าบริเวณถนนพระรามที่ 1 (ย่านสยาม) ที่มีคนสัญจรไปมาจำนวนมาก แต่ภาพที่คุ้นตาใครหลาย ๆ คน จะเห็นพ่อค้าแม่ค้าขายของเต็มทางเท้า จนทำให้คนเดินเท้าต้องไปเดินบนถนน กทม.จึงขอความร่วมมือคืนพื้นที่บริเวณนี้ และ “ปรับปรุง” ระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคทั้งใต้ดินและบนดินใหม่ทั้งหมด เพื่อเป็นต้นแบบทางเท้าของกรุงเทพฯ
ตอนนี้ทางเท้าพระรามที่ 1 ที่เป็นโมเดลทางเท้าของกรุงเทพฯ ปรับปรุงพัฒนาใกล้เสร็จแล้ว และจะต่อยอดปรับปรุงทางเท้าในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้มีทางเท้าที่ทุกคนเดินได้สะดวก เหมาะกับวิถีของคนเมืองในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.อัศวิน เคยกล่าวไว้ด้วยว่า โครงการปรับปรุงถนนพระรามที่ 1 ช่วงจากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ พื้นที่เขตปทุมวัน ได้เริ่มต้น 1 ต.ค.64 จะสิ้นสุดวันที่ 29 มี.ค.65 ระยะเวลาดำเนินงาน 6 เดือน มีความยาว 1,010 เมตร รวมระยะทางไป-กลับ ความยาว 2,020 เมตร เขตทางกว้าง 29 – 29.50 เมตร ทางเท้ากว้างเฉลี่ย 5 เมตร โดยมีรายละเอียดการปรับปรุง ประกอบด้วย
- 1.ปรับปรุงคันหินและทางเท้า
- 2.ปรับปรุงผิวจราจรแอสฟัลต์ ปรับปรุงโคมไฟฟ้าส่องสว่างระบบ Smart Lighting จำนวน 134 ต้น
- 3.จัดระเบียบทางเท้าของหน่วยงานสาธารณูปโภคต่างๆ ให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง
- 4.ปรับปรุงเกาะกลางถนน
- 5.ปรับปรุงรั้วเหล็กกั้นคนข้าม
- 6.จัดทำทางลาดคนพิการตามรูปแบบมาตรฐาน และแก้ไขจุดที่ผู้พิการที่ใช้รถเข็นผ่านไม่ได้
- 7.ปรับปรุงไฟฟ้าส่องสว่าง และจัดระเบียบระบบสาธารณูปโภคใต้พื้นผิวทางเท้า
- 8.งานองค์ประกอบด้านภูมิสถาปัตยกรรม รวมถึงสตรีทเฟอร์นิเจอร์ตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design)
“ปัจจุบันโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ดังกล่าว มีคืบหน้าร้อยละ 5.36 คาดว่างานทางเท้าบริเวณสยามแสควร์ ซอย 7 ถึงสยามแสควร์ซอย 3 ระยะทาง 330 เมตร จะแล้วเสร็จก่อนปีใหม่ 2565 ส่วนงานทางเท้าบริเวณสยามแสควร์ ซอย 3 ถึงถนนราชดำริ และงานทางเท้าฝั่งสยามพารากอน ช่วงถนนพญาไทถึงถนนราชดำริ จะแล้วเสร็จช่วงสงกรานต์ 2565″ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
ภาพ : วิชาญ โพธิ