ประเด็นน่าสนใจ
- ก่อนหน้านี้ พบน้ำมันดิบรั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล อยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง ประมาณ 20 กิโลเมตร
- สภาพชายหาดแม่รำพึง จ.ระยอง มีคราบน้ำลอยเข้าฝั่งเป็นแนวยาว เจ้าหน้าที่ต้องใช้ทุ่นวางให้คราบน้ำมันขึ้นชายหาดน้อยที่สุด
- ล่าสุดทาง ผจว.ระยอง ประกาศให้พื้นที่ชายหาดแม่รำพึงเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำในหาดแม่รำพึงชั่วคราว
จากกรณีพบน้ำมันดิบรั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล อยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งทุกภาคส่วนกำลังเร่งช่วยกันแก้ไข
ล่าสุดช่วงเช้าที่ผ่านมา (29 ม.ค.65) สภาพชายหาดแม่รำพึง จ.ระยอง มีคราบน้ำลอยเข้าฝั่งเป็นแนวยาว เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ใช้ทุ่นวางให้คราบน้ำมันขึ้นชายหาดน้อยที่สุด แล้วจะเริ่มขจัดคราบน้ำมัน ตลอดทั้งวัน
อย่างไรก็ตามช่วงค่ำวานนี้ (28 ม.ค.65) นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง สั่งเร่งใช้ผ้าชนิดพิเศษซับน้ำมันที่ลอยมา พร้อมเตรียมประกาศให้พื้นที่ชายหาดแม่รำพึงเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติในวันที่ 29 ม.ค.65 เป็นต้นไป และห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำในหาดแม่รำพึงชั่วคราว
คราบน้ำมันยังไม่หมด
ต่อมาเวลา 09.30 น. พล.ร.ท.พิชัย ล้อชูสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ทัพเรือภาคที่ 1 (ศปมน.ทร.ภาค1 ) เปิดเผยว่าเมื่อช่วงค่ำวานนี้ ทหารจาก ศบภ.ทรภ.1 โดยกำลังพลของ สอ.รฝ. กองทัพเรือ ชุดแรก 40 นาย เดินเท้าเข้าซับคราบน้ำมันชายหาดตลอดคืน
กระทั่งวันนี้มีการวางแผนร่วมกันกับทางจังหวัดฯ กรมควบคุมมลพิษ ทางบริษัทฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำจัดคราบน้ำมัน ที่ถูกซัดเข้ามาที่ชายฝั่งหาดแม่รำพึง จ.ระยอง
พล.ร.ท.พิชัย ระบุว่า คราบน้ำมันที่เห็นอยู่ในช่วงเช้าวันนี้เป็นชุดแรกที่ถูกซัดเข้ามา และจากการใช้ เครื่อง C130 และเฮลิคอปเตอร์ บินสำรวจเมื่อช่วงเช้าพบคราบน้ำมันความยาวประมาน 2 กม. ลักษณะเป็นฟิล์มบางๆ เหมือนเมื่อวาน จะมีมากในบริเวณหินดำ และคาดว่าจะขึ้นฝั่งในบริเวณเดียวกัน
พล.ร.ท.พิชัย กล่าวพิ่มเติมว่า กำลังพลจากกองทัพเรือที่ผ่านการอบรมได้เข้าประจำที่และให้ความร่วมมือช่วยขจัดคราบน้ำมันริมชายหาดแม่รำพึง จนกว่าจะเสร็จภาระกิจ ที่สำคัญการปฏิบัติการสลาย และขจัดคราบน้ำมันในครั้งนี้ เป็นไปตามที่ ศปมน. ทร.ภาค 1 ประเมินและวิเคราะห์ไว้ทั้งหมด ทั้งทิศทางที่จะขึ้นฝั่ง และปริมาณคราบน้ำมันที่เป็นเหมือนฟิล์ม บาง ๆ ไม่ใช่การจับตัวเป็นก้อน
เดิมวิธีการแรกที่จะใช้จะทำให้เกิดผลกระทบมากกว่านี้ แต่เมื่อประชุมร่วมกันและเลือกใช้วิธีการนี้ จึงทำให้ผลกระทบทางธรรมชาติในทะเล มีน้อย ซึ่งทาง ผู้บัญชาการทหารเรือ ขอให้ ศปมน.ทร.ภาค 1 เลือกใช้วิธีที่ทำให้เกิดผลกระทบกับทุกภาคส่วนน้อยที่สุด
ที่มา : สำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 กรมประชาสัมพันธ์