ทางม้าลาย อุบัติเหตุทางม้าลาย

ตำรวจ จับมือ กทม. – คมนาคม ลงพื้นที่สำรวจแก้ปัญหา ‘ทางม้าลาย’

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมเจาหน้าที่ กทม. และกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่สำรวจแก้ปัญหาทางม้าลาย

Home / NEWS / ตำรวจ จับมือ กทม. – คมนาคม ลงพื้นที่สำรวจแก้ปัญหา ‘ทางม้าลาย’

ประเด็นน่าสนใจ

  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมเจาหน้าที่ กทม. และกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่สำรวจแก้ปัญหาทางม้าลาย
  • รวบรวมข้อมูลเสนอ นปถ. ที่จะประชุมในวันที่ 27 ม.ค.65 เพื่อกำหนดแนวทางการสำรวจข้อมูลทางข้ามในภาพรวมทั่วประเทศ และการปรับปรุงสภาพแวดล้อม
  • พร้อมทั้งแนวทางการใช้เทคโนโลยีมาติดตั้งบริเวณทางข้าม เพื่อจัดการความปลอดภัยและบังคับใช้กฎหมาย

วันนี้ (27 ม.ค.65) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคม พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณทางข้าม (ทางม้าลาย) บริเวณโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท

ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุเฉี่ยวชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล เพื่อสำรวจสภาพด้านวิศวกรรรมจราจร ส่วนควบและอุปกรณ์ของทางข้าม สำหรับเป็นข้อมูลในการปรับสภาพแวดล้อมบริเวณทางข้ามดังกล่าว ให้เหมาะสม เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนนสูงสุด โดยจะรวบรวมข้อมูล นำเสนอคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ( หรือ นปถ.) ในการประชุมวันพฤหัสบดีที่ 27 ม.ค.65 ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน

นอกจากนั้น ทาง ตร. จะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยทางถนน ร่วมประชุมหารือ เพื่อกำหนดแนวทางการสำรวจข้อมูลทางข้ามในภาพรวมทั่วประเทศ และการปรับปรุงสภาพแวดล้อม รวมถึงแนวทางการใช้เทคโนโลยีมาติดตั้งบริเวณทางข้าม เพื่อจัดการความปลอดภัยและบังคับใช้กฎหมายในวันศุกร์ที่ 28 ม.ค.65 ต่อไป

สำหรับโดยทางข้ามหน้าสถาบันโรคไตฯ นั้น จัดทำครั้งแรกเมื่อปี 2558 มีประชาชนใช้ทางข้ามประมาณ ชั่วโมงละ 30 คน อยู่ห่างจากแยกพญาไทประมาณ 120 เมตร เป็นทางข้ามที่ยังไม่ได้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้รถ ใช้ถนน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ได้ยกร่างระเบียบระบบตัดคะแนนสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว และจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อดำเนินการต่อไป คาดว่าจะอนุมัติและบังคับใช้ได้ในเดือนกันยายน พ.ศ.2565 และมีการเสนอเพิ่มโทษการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร จากปรับไม่เกิน 1,000 บาท เป็นไม่เกิน 4,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะอนุมัติประกาศใช้ได้ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2565

ที่มา : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ