พายุแฮเรียต พายุแฮเรียตถล่มตะลุมพุก

ย้อนรอย 57 ปี พายุแฮเรียตถล่มตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน

ย้อนเหตุการณ์ไปเมื่อ 57 ปีที่แล้ว พายุโซนร้อนชื่อ “แฮเรียต” ได้เข้าถล่มภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะ จังหวัดนครศรีธรรมราช คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 900 ราย และอีกนับหมื่นไร้ที่อยู่อาศัย เพราะคลื่นที่สูงกว่า 3 เมตรได้ทำลายบ้านเรือนหมดสิ้นทั้งหมด…

Home / NEWS / ย้อนรอย 57 ปี พายุแฮเรียตถล่มตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน

ย้อนเหตุการณ์ไปเมื่อ 57 ปีที่แล้ว พายุโซนร้อนชื่อ “แฮเรียต” ได้เข้าถล่มภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะ จังหวัดนครศรีธรรมราช คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 900 ราย และอีกนับหมื่นไร้ที่อยู่อาศัย เพราะคลื่นที่สูงกว่า 3 เมตรได้ทำลายบ้านเรือนหมดสิ้นทั้งหมด ติดตามจากรายงาน

หมู่บ้านชาวประมง ตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชแห่งนี้ ถือเป็นพื้นที่แรกที่จะได้รับความเสียหาย หากเกิดพายุปาบึก พัดเข้าสู่พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เช่นเดียวกับปี 2505 หรือเมื่อ 57 ปีก่อน ที่ชาวแหลมตะลุมพุก ถูกพายุโซนร้อนแฮเรียต พัดถล่ม การแจ้งเตือนพายุปาบึก จึงทำให้ชาวบ้านแหลมตะลุมพุก ที่เคยเผชิญกับความรุนแรงของภัยธรรมชาติในครั้งนั้น ต่างมีความกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้ง เช่นเดียวกับในอดีตที่ประเทศไทยเคยเผชิญกับพายุที่รุนแรงอย่างพายุไต้ฝุ่นเกย์ ในปี 2532 ในบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง มุ่งหน้าสู่มหาสมุทรอินเดีย ทิศทางการเคลื่อนตัวคล้ายกับ พายุปาบึก ที่กำลังเข้าใกล้ประเทศไทยในตอนนี้

ย้อนเหตุเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2505 มหาวาตภัยที่มีการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างหนัก เมื่อพายุโซนร้อนแฮเรียต ซึ่งถือเป็นพายุโซนร้อนรุนแรง ที่เข้าถล่มภาคใต้ของประเทศไทย ก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ใกล้ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 19 ตุลาคม 2505 หย่อมความกดอากาศอ่อนตัวลง และกลับก่อตัวขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันในทะเลจีนใต้ตอนล่างนอกชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนใต้ ในวันที่ 22 ตุลาคม ต่อมาพายุดีเปรสชัน ลูกนี้ได้เคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเข้ามาในอ่าวไทย ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนนอกชายฝั่ง จ.สงขลา ในเช้าวันที่ 25 ตุลาคม ได้รับการตั้งชื่อว่า แฮเรียต

จากนั้นเปลี่ยนทิศทางตรงไปยัง จ.นครศรีธรรมราช เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศไทยในตอนค่ำของวันที่ 25 ตุลาคม ที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง ด้วยความเร็วลมสูงสุดวัดที่สถานีตรวจอากาศนครศรีธรรมราชได้ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือสตอร์มเสิร์จ ในช่วงกลางดึก หลังจากนั้นพายุก็อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน เคลื่อนผ่าน จ.กระบี่ ภูเก็ต และพังงาลงสู่ทะเลอันดามันในวันที่ 26 ตุลาคม โดยอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ก่อนจะสลายตัวไปในอ่าวเบงกอลใกล้กับบังกลาเทศในวันที่ 30 ตุลาคม

นอกจากมหาวาตภัยนี้ตกวาดทุกสิ่งทุกอย่างบนแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง ที่มีผู้คนอยู่อาศัยกว่า 4,000 คน จนหมดสิ้น แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อ 12 จังหวัดในภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปถึงจังหวัดนราธิวาส คลื่นที่สูงกว่า 3 เมตร คร่าชีวิตผู้คนไป 911 คน สูญหาย 142 คน บาดเจ็บสาหัส 252 คน ไร้ที่อยู่อาศัย 16,170 คน อาคารบ้านเรือนทั่วทั้งจังหวัดพังทั้งหลัง 22,296 หลัง ชำรุด 50,775 หลัง โรงเรียนพังเสียหาย 435 แห่ง สวนยางสวนผลไม้เสียหายประมาณ 790 ล้านต้น สถานที่ราชการ โรงเรียน วัด การไฟฟ้าและสถานีวิทยุตำรวจเสียหายหนัก ต้นไม้โค่นล้มขวางทางยาวนับสิบกิโลเมตร รถไฟด่วนสายใต้ต้องหยุดเดินรถเพราะภูเขาดินพังทลายทับรางระหว่างสถานีรถไฟช่องเขากับสถานีรถไฟร่อนพิบูลย์ ประเมินความเสียหาย 377-1,000 ล้านบาท

ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดของไทย แต่ด้วยพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราชานุเคราะห์ผู้ประสบวาตภัยในครั้งนี้หลายๆ ประการ เป็นที่มาของการก่อตั้งขึ้นมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ขึ้นเป็นแห่งแรก