ราคาเนื้อหมู เนื้อหมูแพง

นายกฯ สั่ง กษ.-พณ. จับมือแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพง

นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ แก้ปัญหาราคาเนื้อสุกรแพงทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

Home / NEWS / นายกฯ สั่ง กษ.-พณ. จับมือแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพง

ประเด็นน่าสนใจ

  • นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ แก้ปัญหาราคาเนื้อสุกรแพงทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
  • โดยแนวทางหนึ่งที่มีการพูดถึง คือ การชะลอการส่งออกสุกร เพื่อให้มีปริมาณสุกรอยู่ในประเทศเพียงพอต่อความต้องการ
  • มาตรการระยะกลาง-ยาว ให้กรมปศุสัตว์ส่งเสริมเกษตรกรรายเล็กและรายย่อยเดิม ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม

วันที่ 5 ม.ค. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เร่งให้มีการติดตามกรณีปัญหาราคาเนื้อหมูที่มีการปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งหารือเพื่อดูแลแก้ปัญหาราคาเนื้อสุกรแพงทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

ซึ่งล่าสุด ภายใต้การสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาในระยะอันใกล้นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ โดยแนวทางหนึ่งที่มีการพูดถึง คือ การชะลอการส่งออกสุกร เพื่อให้มีปริมาณสุกรอยู่ในประเทศเพียงพอต่อความต้องการ เพื่อทำให้ราคาของเนื้อสุกรในตลาดลดต่ำ

รวมทั้งขอความร่วมมือห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ตรึงราคาจำหน่ายหมูเนื้อแดง ขอความร่วมมือผู้ค้า อย่าเพิ่งฉวยโอกาสจำหน่ายราคาเนื้อสุกรที่แพงเกินสมควร ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่าภายใน 4 เดือน จำนวนสุกรขุนจะเพิ่มขึ้น และราคาจะปรับเข้าสู่ภาวะปกติ

มาตรการระยะกลาง-ยาว

รัฐบาลจะมุ่งเน้นให้กรมปศุสัตว์ส่งเสริมเกษตรกรรายเล็กและรายย่อยเดิม ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม มีการขึ้นทะเบียนฟาร์มสุกรกับผู้เลี้ยงรายเล็ก-ย่อยมากขึ้น เพื่อเฝ้าติดตาม ควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคในสุกร นอกจากนี้ยังจะมีการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้ผลิตลูกหมูเพิ่ม เพื่อส่งให้เกษตรกรรายเล็กและรายย่อยเลี้ยง โดยจะใช้เงินทุนจากธนาคาร ธ.ก.ส. ภายใต้ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” เข้ามาสนับสนุน เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินการ

ทั้งนี้ ได้มีการเร่งหารือกับภาคการเกษตรและการส่งออก-นำเข้า เพื่อหามาตรการลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และจะส่งเสริมการปลูกข้าวโพดมาเป็นพืชอาหารสัตว์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ประเทศไทยมีความต้องการใช้ถึงปีละ 8 ล้านตัน แต่มีกำลังการผลิตเพียง 4 ล้านตัน/ต่อปี