เกษตรกร เผย ‘ปลาช่อนในบ่อซีเมนต์’ ทางเลือกใหม่ เลี้ยงง่าย สร้างรายได้ดี และเป็นปลาเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นที่ต้องการของตลาด
ทีมข่าว MThai จะพาไปรู้จักกับ นางย้อม แสงสว่าง อาศัยอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ต.ป่างิ้ว อ.เมือง จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการเลี้ยงปลาช่อนในบ่อซีเมนต์ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นางย้อม เปิดเผยว่า ตนเองมีเวลาว่าง อีกทั้งยังมีที่บริเวณรอบบ้านว่างอยู่ จึงได้คิดทดลองเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อซีเมนต์ โดยครั้งแรกได้เริ่มจากนำปลาหมอไทย ปลาดุก และกบมาเลี้ยง ซึ่งได้ผลตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร จึงได้เริ่มมาทดลองเลี้ยงปลาช่อน โดยเห็นว่าปลาช่อนมีราคาดีและยังไม่มีใครทำ ตนเองจึงได้ทดลองดำเนินการ
โดยวิธีการทำเริ่มจากเตรียมบ่อซีเมนต์หลายขนาด จากนั้นหาลูกปลาช่อนขนาดตัว 1-2 นิ้ว มาเลี้ยง ระยะนี้ให้ใช้อาหารชนิดผงของปลาดุกเล็กมาปั้นก้อนขนาดเท่าหัวแม่มือ 2-3 ก้อน ให้เป็นอาหาร สัปดาห์ต่อมาควรฝึกให้กินจิ้งหรีดตัวเล็กๆ เมื่อลูกปลาอายุ 1 เดือน จะย้ายปลาช่อนลงบ่อเลี้ยงขนาด 5×10 เมตร จำนวนบ่อละ 2,000 – 3,000 ตัว ให้ใช้หอยเชอรี่มาต้มทั้งตัว และแคะเอาแต่เนื้อหอยมาสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ นำไปใส่ในบ่อ ช่วงนี้กรณีมีจิ้งหรีดไม่เพียงพอ ให้ใช้หอยเชอรี่มาต้มทั้งตัว และแคะเอาแต่เนื้อหอยมาสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ และนำไปให้ปลาช่อนกิน โดยประมาณ 15 วัน จะต้องทำความสะอาด และเปลี่ยนถ่ายน้ำ
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาช่วงเลี้ยง 8-9 เดือน ซึ่งตัวรุ่นเล็ก 2,500 ตัว จะได้น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 1,200 กิโลกรัม จะขายกิโลกรัมละ 60 บาท เป็นอย่างต่ำ รวมแล้วเป็นเงิน 72,000 บาท การลงทุนหากไม่คิดค่าบ่อ คิดแต่ค่าอาหารช่วงปลาเล็กๆ ค่าน้ำ ค่าไฟ ใช้แรงงานในครัวเรือนแล้วใช้เงินประมาณ 1,500บาท/รุ่น ซึ่งก็ทำให้มีกำไรสูงมาก ถ้าเลี้ยงหมุนเวียนประมาณ 3 บ่อ ก็จะมีรายได้เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ปลาช่อนยังเป็นปลาเศรษฐกิจที่ขายได้ทุกขนาด และเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ยิ่งน้ำหนักตัวละ 8-9 ขีด ไปจนถึง 1กิโลกรัม จะได้ราคาดี อยู่ที่กิโลกรัมละ70-80 บาท หากนำปลาช่อนไปเผา จะขายได้ตัวละ 90-100 บาท โดยปลาช่อนที่มีขนาดเล็ก ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท แต่หากแปรรูปเป็นปลาเค็ม และปลาช่อนแดดเดียว จะอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 120 บาท เลยทีเดียว
ขอบคุณข้อมูล / ภาพ จาก facebook เกษตรกรก้าวหน้า
ติดตามข่าวเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ news.mthai.com/economy