การคมนาคมในพื้นที่ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก ขณะนี้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมทั้งอุปกรณ์และบุคลากร
สายการบิน บางกอกแอร์เวย์ส ประกาศยกเลิกเที่ยวบิน เข้าและออกจากสมุย ทุกเที่ยว ระหว่างวันที่ 4-5 มกราคม 2562 เพื่อความปลอดภัยผู้โดยสาร โดยสามารถติดต่อเพื่อขอเปลี่ยนแปลงการเดินทาง หรือตรวจสอบสถานะเที่ยวบินได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่ศูนย์บริการลูกค้า โทร 1771
ส่วนสายการบินไลอ้อนแอร์ ได้เพิ่มเที่ยวบิน พิเศษ เส้นทาง ดอนเมือง – สุราษฎร์ธานี และ สุราษฎร์ธานี – ดอนเมือง เพื่อช่วยระบายผู้โดยสาร ที่ติดค้างในสนามบินสุราษฎ์ธานี
ขณะที่บริษัทการบินไทย ยังไม่ประกาศยกเลิกเที่ยวบินในพื้นที่อาจได้รับผลกระทบจากพายุ ปาบึก แต่แนะนำให้ ผู้โดยสาร ตรวจสอบตารางการบิน เส้นทาง กรุงเทพ-กระบี่ และกรุงเทพฯ – ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 3-5 มกราคมนี้ ผ่านเว็บไซด์ ไทยแอร์เวย์ส ตลอด 24 ชั่วโมง
นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน เปิดเผยว่า ได้สั่งสนามบินภาคใต้โดยเฉพาะบินที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่น สนามบินสุราษฎร์ธานี ชุมพร ตรัง ระนอง ส่วนนครศรีธรรมราชได้เตรียมการร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว โดยเตรียมพร้อมคันกั้นน้ำ และเตรียมเครื่องสูบน้ำ ชลประทานมาขุดลอกทางน้ำให้ระบายออกเพิ่มได้ 5 เส้นทาง
ขณะเดียวกัน มีแผนรองรับกรณีที่สภาพอากาศไม่เหมาะสมจนต้องปิดสนามบิน เพราะเบื้องต้นประเมินว่าพายุจะรุนแรงมาก และจะต้องประสานสายการบินในการรองรับผู้โดยสาร และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตำรวจ ทหาร มาช่วยอำนวยความสะดวก
ขณะที่นักท่องเที่ยว จากเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทยอยเดินทางกลับขึ้นฝั่ง หลังอธิบดีกรมเจ้าท่า สั่งงดนำเรือออกจากฝั่ง ตั้งแต่เที่ยงวันที่ผ่านมา พร้อมประสานงานกับกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อรับมือเมื่อพายุขึ้นสู่ฝั่ง พร้อมออกประกาศเตือนชาวเรือให้ระมัดระวังการเดินเรือ โดยเรือเล็กหรือเรือ ควรงดออกจากฝั่ง ระหว่างวันที่ 2 – 5 มกราคม 2562 เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำ หลังประเมินว่า คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น
ขณะเดียวกัน สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค จัดตั้งศูนย์ปลอดภัยทางน้ำขึ้นในแต่ละสำนักงานเจ้าท่าสาขา โดยให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 4 เป็นศูนย์บัญชาการในฝั่งอ่าวไทย และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 เป็นศูนย์บัญชาการฝั่งอันดามัน เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่และเรือตรวจการณ์
ส่วนเส้นทางถนน นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า กรมฯ ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า เพื่อประสานความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสนับสนุนเครื่องมือ เครื่องจักร ยานยนต์ ไว้พร้อมแล้ว โดยพร้อมเข้าไปติดตั้งป้ายเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง กรณีน้ำท่วมสูง และ ติดตั้งหลักนำทางกำหนดขอบเขตการจราจร
แต่หากถนนหรือสะพานขาด กรมฯ จะเร่งเข้าดำเนินการติดตั้งสะพานเบลีย์ เชื่อมทาง หรือ ถมวัสดุเชื่อมเส้นทาง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางสัญจร