ประเด็นน่าสนใจ
- ซากฟอสซิลตัวอ่อนดังกล่าวถูกค้นพบในก้อนหินทางตะวันออกของจีนเมื่อราวปี 2000
- หลักฐานเพิ่มเติมที่สนับสนุนแนวคิดสัตว์ปีกยุคใหม่วิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์
- การศึกษาตัวอ่อนไดโนเสาร์นี้อาจช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับการเติบโตและการขยายพันธุ์ของไดโนเสาร์
ผลการศึกษาตัวอ่อนจากซากฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์หายากของคณะนักบรรพชีวินวิทยานานาชาติ มอบหลักฐานเพิ่มเติมที่สนับสนุนแนวคิดสัตว์ปีกยุคใหม่วิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์
ซากฟอสซิลตัวอ่อนดังกล่าวถูกค้นพบในก้อนหินทางตะวันออกของจีนเมื่อราวปี 2000 และเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติหินอิงเหลียงในมณฑลฝูเจี้ยน พร้อมฉายา “ทารกน้อยอิงเหลียง”
สิ่งมีชีวิตยุคดึกดำบรรพ์ขดตัวอยู่ในไข่ใบยาว 17 เซนติเมตร คาดว่ามันมีขนาดยาวจากหัวถึงหางราว 27 เซนติเมตร และเป็นไดโนเสาร์กลุ่มเทโรพอดไร้ฟัน (oviraptorosaur) จากยุคครีเทเชียส อายุ 66-72 ล้านปี
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารไอไซเอนซ์ (iScience) ฉบับวันพุธ (22 ธ.ค.) เผยว่าท่าทางของตัวอ่อนในไข่บ่งบอกว่าไดโนเสาร์พวกนี้อยู่ในช่วงเตรียมฟักออกจากไข่เหมือนกับสัตว์ปีก
คณะนักวิทยาศาสตร์จากจีน สหราชอาณาจักร และแคนาดา ซึ่งทำการศึกษาซากฟอสซิลนี้ พบว่าท่าทางของ “ทารกน้อยอิงเหลียง” แตกต่างจากตัวอ่อนไดโนเสาร์ที่รู้จักกัน
เจ้าทารกอิงเหลียงนอนขดโดยหัวอยู่ข้างใต้ลำตัว เท้าวางขนาบข้างหัว และหลังโค้งงอตามส่วนปลายทู่ของไข่ ซึ่งเป็นท่าทางที่ที่ไม่เคยพบในไดโนเสาร์มาก่อน แต่กลับคล้ายคลึงกับตัวอ่อนสัตว์ปีกยุคใหม่
เป็นที่ทราบกันดีว่าก่อนฟักออกจากไข่ สัตว์ปีกจะเจริญเติบโตในท่าทางพับงอตัวและหดหัวอยู่ใต้ปีก ตัวอ่อนที่ไม่สามารถเติบโตในท่าทางเช่นนี้ได้จะมีโอกาสตายเพราะฟักออกจากไข่ไม่สำเร็จ
ทีมวิจัยเทียบ “ทารกน้อยอิงเหลียง” กับตัวอ่อนไดโนเสาร์และสัตวืปีกอื่น ๆ ก่อนเสนอว่าพฤติกรรมก่อนฟักออกจากไข่เช่นนี้ ซึ่งเคยคิดว่าพบได้แต่ในสัตว์ปีก ปรากฏอยู่ในไดโนเสาร์เทโรพอดเมื่อสิบหรือร้อยล้านปีก่อน
ไฟออน ไหว่ซัม หม่า ผู้ร่วมเขียนและนักวิจัยปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม กล่าวว่าการศึกษาตัวอ่อนไดโนเสาร์นี้อาจช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับการเติบโตและการขยายพันธุ์ของไดโนเสาร์
“น่าสนใจที่ได้พบตัวอ่อนไดโนเสาร์นี้ รวมถึงลักษณะท่าทางของตัวอ่อนที่เหมือนกับลูกไก่ในไข่ ซึ่งอาจบ่งชี้พฤติกรรมก่อนฟักออกจากไข่ที่คล้ายคลึงกัน” หม่ากล่าว
สตีฟ บรูซาตตี จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ระบุว่าไดโนเสาร์ตัวน้อยที่ยังไม่ฟักออกจากไข่นี้ดูเหมือนลูกนกขดตัวอยู่ในไข่ ถือเป็นหลักฐานเพิ่มเติมว่าสัตว์ปีกยุคปัจจุบันวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษอย่างไดโนเสาร์
สิงลี่ต๋า อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน เผยว่าตัวอ่อนไดโนเสาร์จัดเป็นหนึ่งในซากฟอสซิลหายากที่สุด และการตรวจสอบสมมติฐานของการศึกษาครั้งนี้ยังต้องการฟอสซิลลักษณะนี้เพิ่มอีก
ที่มา : Xinhua