เครื่องช่วยหายใจ เครื่องช่วยหายใจอัตราไหลสูง โควิด-19 โรคปอด

ฝีมือคนไทย “เครื่องช่วยหายใจอัตราไหลสูง”

เครื่องช่วยหายใจไฮโฟลว์ นวัตกรรมสัญชาติไทยชิ้นแรกที่ได้รับการรับรองจาก อย. ประสิทธิภาพเทียบเท่านำเข้าตปท.

Home / NEWS / ฝีมือคนไทย “เครื่องช่วยหายใจอัตราไหลสูง”

ประเด็นน่าสนใจ

  • เครื่องช่วยหายใจไฮโฟลว์ นวัตกรรมสัญชาติไทยชิ้นแรกที่ได้รับการรับรองจาก อย.
  • เพื่อใช้รักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วยจากการติดเชื้อจากโควิด – 19 และปัญหาทางเดินหายใจ
  • ประสิทธิภาพเทียบเท่านำเข้าตปท. ส่งมอบใช้จริงเพื่อรักษาผู้ป่วยแล้วกว่า 500 เครื่อง

วันนี้ ( 17 ธ.ค. 64 ) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด สร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจอัตราไหลสูง (High Flow Nasal Cannula – HFNC)

เพื่อใช้รักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วยจากการติดเชื้อจากโควิด – 19 และปัญหาทางเดินหายใจ นับว่าเป็นเครื่องช่วยหายใจอัตราไหลสูงเครื่องแรกที่ผลิตได้โดยคนไทยและได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถลดการนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์ของประเทศไทย และได้เริ่มส่งมอบและใช้งานในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยไปแล้วกว่า 500 เครื่อง พร้อมเตรียมแผนขยายสู่สถานพยาบาลที่มีความพร้อมต่อไป

ยกระดับคุณภาพชีวิต

ทั้งนี้ ​ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “ในปี 2564 จนถึงปี 2565 NIA ยังคงเดินหน้าสนับสนุนนวัตกรรมด้านการแพทย์ที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทย เพื่อรับมือกับภาวะการระบาดของโรค เช่น โควิด -19 ที่ขณะนี้ยังคงมีการแพร่ระบาดและมีการกลายพันธุ์ของเชื้ออย่างต่อเนื่อง

โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และยกระดับความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้คิดค้นงานวิจัย อาจารย์ – ผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มโรงพยาบาล รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพไทยนั้น มีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากอดีตเป็นจำนวนมาก และกลุ่มคนที่มีความสามารถเหล่านี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญในการนำแนวทางใหม่ ๆ มาช่วยยกระดับการรักษาให้ทัดเทียมและทั่วถึง อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเครื่องมือด้านการแพทย์จากต่างประเทศได้อีกด้วย

​ในปีที่ผ่านมา NIA ได้ให้การสนับสนุนนวัตกรรมทางด้านการแพทย์กับสตาร์ทอัพ และกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์ จำนวน 11 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 19.64 ล้านบาท โดยเฉพาะนวัตกรรมที่มุ่งเป้าในการรักษาผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน การแพทย์ทางไกล เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยและตอบโจทย์การรองรับการรักษาโรค อีกทั้งยังมีการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบของความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน

หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จคือ “เครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง” ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยบริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการออกแบบและผลิตชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้การสนับสนุนและความร่วมมือจาก NIA โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประสิทธิภาพ “เครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง”

ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเครื่องมือที่นำเข้าจากต่างประเทศ และได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สามารถผลิตและใช้งานได้ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินร่วมกับการควบคุมจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเป็นรายแรก ซึ่งได้มีการส่งมอบและนำไปใช้งานกับผู้ป่วยโควิด – 19 และระบบทางเดินหายใจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยแล้วกว่า 500 เครื่อง

​“ด้วยสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 ทำให้เครื่องมือทางการแพทย์โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบการช่วยหายใจมีความจำเป็นอย่างมากกับโรงพยาบาล หลายประเทศตั้งงบประมาณสำหรับจัดหาเครื่องช่วยหายใจจากประเทศที่เป็นผู้ผลิต แต่ด้วยภาวะวิกฤติของโควิด – 19 ทำให้อุปกรณ์นี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของทุกประเทศทั่วโลก NIA จึงอยากเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการสนันสนุนเงินทุนให้คนไทยได้ใช้องค์ความรู้ที่มีมาสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่จะเป็นส่วนช่วยเหลือสังคมและเป็นส่วนที่จะทำให้ชีวิตความป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเสริม

​รศ.นพ.ทายาท ดีสุดจิต กุมารแพทย์ประสาทวิทยา ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผู้มีความสนใจงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์อันทันสมัย กล่าวว่า “หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 พบว่าโรงพยาบาลต่าง ๆ อาจเข้าสู่วิกฤตใหญ่คือมีเครื่องช่วยชีวิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ นี่คือจุดเริ่มต้นของการคิดค้นและผลิตเครื่องบำบัดโรคระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูง Chula High Flow Nasal Cannula (Pranamax)

โดยเป็นความร่วมมือจาก 7 องค์กร ได้แก่ สภากาชาดไทย องค์การอาหารและยา (อย.) สถาบันมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (มอก.) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การพัฒนานวัตกรรมทางการรักษาแบบฉุกเฉินครั้งนี้ คำนึงถึงความฉุกเฉินและวิกฤตที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขเป็นประเด็นสำคัญและความเหมาะสมต่อการใช้งานตามสถานการณ์จริงในปัจจุบัน โดยทางทีมผู้ประดิษฐ์ได้มีการศึกษาโครงสร้างของเครื่องบำบัดโรคระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูง

เริ่มจากการจัดหาชิ้นส่วนที่เหมาะสมเพื่อนำมาทดแทนชิ้นส่วนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จากนั้นจึงเริ่มสร้างตัวทดสอบพื้นฐานขึ้น เมื่อพัฒนาจนสามารถใช้งานเครื่องได้จริง จึงขออนุญาตใช้สิทธิ์ตามกฎหมายเครื่องมือแพทย์มาตรา 27 วรรค 1 ซึ่งเป็นการสร้างเครื่องมือขึ้นมาใช้และกระจายชิ้นส่วนการใช้งานได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเครื่อง Chula HFNC ได้ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานอย่างถูกต้อง”

​รศ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด หน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต กล่าวว่า “จากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการปอดอักเสบรุนแรงมากกว่าร้อยละ 15 ของผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องบำบัดโรคระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูง ที่มีอัตราการไหลสูงกว่าอยู่ที่ 40 – 60 ลิตรต่อนาที โดยพบว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราการใส่ท่อช่วยหายใจลงได้ ทำให้อาการเหนื่อยลดลง

เครื่องต้นแบบ

ซึ่งหลังจากที่ได้ผลิตเครื่องต้นแบบ Chula HFNC ได้นำเครื่องต้นแบบมาทดสอบในอาสาสมัครปกติทั้งหมด 5 คน และผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปอดอักเสบที่รักษาตัวในห้อง ICU ทั้งหมด 10 คน ซึ่งผลการรักษาพบว่าได้ผลดีมาก ไม่แตกต่างกับเครื่องมาตรฐานที่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าเครื่องให้อากาศที่มีอัตราการไหลสูงได้ถึง 150,000 บาท ต่อ 1 เครื่อง

ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนชาวไทยและองค์กรต่างๆ ที่ร่วมบริจาคผ่านมูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ รวมทั้ง NIA ที่ได้ให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติม ทำให้เราสามารถแจกจ่ายเครื่อง Chula HFNC ไปยังโรงพยาบาลที่ขาดแคลนทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ รวมทั้งสิ้น 500 เครื่อง ซึ่งนับเป็นการส่งต่อการให้ที่ยิ่งใหญ่ของวงการสาธารณสุขไทยท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดเช่นในปัจจุบัน

คุณสมบัติของนวัตกรรม

นายชัยสิทธิ์ ธรรมพีร กรรมการ บริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด ผู้พัฒนานวัตกรรมชุดอุปกรณ์ควบคุมการทำงานเครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง กล่าวว่า เครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง มีจุดเริ่มต้นจากการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้บริษัทเข้าไปศึกษาเครื่องที่ทางโรงพยาบาลใช้ พร้อมทั้งเสนอแนะระบบการทำงานที่ควรมี ซึ่งระบบเหล่านั้นมักจะอยู่ในกลุ่มของเครื่องที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาค่อนข้างสูง บริษัทจึงได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นต้นแบบในการผลิตและมีค่าใช้จ่ายเพียงแค่ 1 ใน 4 จากเครื่องที่ต้องนำเข้า

ด้านคุณสมบัติของนวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูงที่ผลิตขึ้นนี้ถือว่าเทียบเท่ากับเครื่องที่มีราคาสูงในตลาดได้อย่างแน่นอน แต่จะมีจุดนวัตกรรมที่โดดเด่น คือ การควบคุมอุณภูมิความชื้นอยู่ในระดับที่ดี เพราะคนไข้ที่ป่วยจากระบบทางเดินหายใจจะทำให้ออกซิเจนนั้นเข้าปอดไม่เพียงพอ จึงต้องใช้เครื่องช่วยทำให้อัตราไหลสูงวิ่งเข้าปอดเร็ว ซึ่งการเข้าไปนั้นจำเป็นต้องมีความชื้นที่เหมาะสม ถ้าควบคุมความชื้นไม่ดี อาจทำให้คนไข้ติดเชื้อมีความชื้นในปอดได้ ถือเป็นจุดย้ำแรกที่ต้องระวังและทำให้ดี

ซึ่งนวัตกรรมนี้สามารถทำได้ และในอนาคตบริษัทก็มีแผนที่จะพัฒนาการใช้งานให้ดีขึ้นโดยการที่คุณหมอสามารถสั่งการระบบการทำงานของเครื่องผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ เลือกได้ว่าควรใช้โปรแกรมไหนให้มีความเหมาะสมกับคนไข้ในเวลานั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเดินไปยังเตียงคนไข้ทุกช่วงเวลา ซึ่งจะช่วยลดการเป็นการพบปะหรือแพร่เชื้อ และคาดว่าจะสามารถพัฒนานวัตกรรมในจุดนี้ได้อย่างแน่นอน

“ตอนที่ได้รับการติดต่อจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้มาช่วยทำเครื่องเครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง เมื่อเดือนพฤษภาคม บริษัทมีความหนักใจมากเพราะไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย แต่ทีมแพทย์ก็อธิบายให้อย่างละเอียด ซึ่งฟังดูแล้วก็น่าจะทำได้ จึงถามไปว่า “ถ้าเราทำได้ ทำได้ดี คุณหมอต้องกล้าใช้นะ”

เพราะเห็นมาเยอะว่านวัตกรรมหลายอย่างทำเสร็จแล้วไม่มีการนำไปใช้ ทิ้งไว้บนหิ้ง เมื่อฟังรศ.พญ.นฤชา ตอบในทันทีว่า “ใช้” เราก็รับทำเลย แต่ปัญหาอยู่ที่ต้องทำให้เสร็จโดยเร็วเพราะโควิดกำลังระบาดหนักมาก และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็ขาดแคลน โดยเฉพาะชิปจอแสดงผลฯ บริษัทจึงเลือกใช้ของที่มีอยู่แล้ว

ซึ่งเดิมจะใช้ในการผลิตให้ลูกค้าโรงแรม โชคดีในความโชคร้ายที่ธุรกิจโรงแรมเลื่อนการก่อสร้างออกไป เราจึงสามารถนำของตรงนั้นมาใช้ก่อนได้ ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตหากมีการส่งเสริมโมเดลการทำงานแบบบูรณาการ ประเทศไทยจะมีนวัตกรรมทางการแพทย์ดี ๆ ใช้เทียบเท่ากับในระดับต่างประเทศ และพร้อมรับมือกับหลายสภาวะอย่างแน่นอน”

ภาพ : วิชาญ โพธิ