ประเด็นน่าสนใจ
- ไฟเซอร์ อิงก์ เผย ยาต้านไวรัสโควิด-19 ชนิดรับประทานของบริษัทฯ ป้องกันเข้ารพ.-เสียชีวิตเกือบ 90%
- ลดปริมาณเชื้อไวรัสฯ ลงราว 10 เท่าในวันที่ 5 ของการรักษา
- ไฟเซอร์เสนอผลการศึกษาขั้นสุดท้ายต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) อยู่ระหว่างการยื่นขออนุมัติการใช้งานกรณีฉุกเฉิน
ไฟเซอร์ อิงก์ (Pfizer Inc.) บริษัทเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ เปิดเผยผลการศึกษาขั้นสุดท้ายที่บ่งชี้ว่ายาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดรับประทานของบริษัทฯ สามารถลดความเสี่ยงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตเกือบร้อยละ 90 ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง
ไฟเซอร์ระบุว่าผลลัพธ์ข้างต้นอ้างอิงการวิเคราะห์ผู้ป่วยกว่า 2,000 ราย ระหว่างการทดลองระยะ 2/3 และสอดคล้องกับการวิเคราะห์เมื่อเดือนพฤศจิกายน โดยพบความเสี่ยงรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลดลงร้อยละ 89 หากใช้ยาดังกล่าวใน 3 วันหลังเริ่มมีอาการ เมื่อเทียบกับการใช้ยาหลอกในผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่เสี่ยงสูงและไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาล
นอกจากนั้นการรักษาผู้ป่วยด้วยยาต้านไวรัสชนิดรับประทานภายใน 5 วันหลังเริ่มมีอาการ ช่วยลดความเสี่ยงรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตร้อยละ 88 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 85 ที่แสดงในผลการวิเคราะห์ก่อนหน้านี้
ไฟเซอร์เสนอผลการศึกษาขั้นสุดท้ายต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) โดยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยื่นขออนุมัติการใช้งานกรณีฉุกเฉินแก่ยาต้านไวรัสตัวนี้
“สายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern) ที่อุบัติขึ้นใหม่อย่างสายพันธุ์โอไมครอน เร่งความจำเป็นในการคัดเลือกแนวทางการรักษาที่เข้าถึงได้ และเรามั่นใจว่าหากยาที่มีศักยภาพนี้ผ่านการอนุมัติ มันอาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยับยั้งโรคระบาดใหญ่” อัลเบิร์ต บูร์ลา ประธานและซีอีโอของไฟเซอร์ กล่าว
ขณะเดียวกันผลวิเคราะห์จากการทดลองระยะ 2/3 อีกรายการของไฟเซอร์ ระบุว่ายาต้านไวรัสชนิดรับประทานยังช่วยลดความเสี่ยงรักษาตัวในโรงพยาบาลร้อยละ 70 ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงระดับทั่วไป โดยลดปริมาณเชื้อไวรัสฯ ลงราว 10 เท่าในวันที่ 5 ของการรักษา เมื่อเทียบกับการทดลองใช้ยาหลอกในผู้ป่วยเสี่ยงสูงและทั่วไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. คณะที่ปรึกษาของสำนักงานฯ แนะนำการอนุมัติใช้ยาต้านไวรัสที่พัฒนาโดยเมิร์ก แอนด์ โค (Merck & Co) และริดจ์แบ็ก ไบโอเทอราพิวทิก แอลพี (Ridgeback Biotherapeutics LP) ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 อย่างน้อยร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับการใช้ยาหลอก
ที่มา : Xinhua