ประเด็นน่าสนใจ
- เลขาฯ ป.ป.ส. ระบุ ประมวลกฎหมายยาเสพติด “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย”
- กฎหมายนี้มีเจตนารมย์ที่จะช่วยเหลือ ให้เข้ารับบำบัดโดยไม่เอาผิดทางอาญา หรือการลดการเป็นอาชญากรรมของผู้เสพ
- ปรับแนวคิดเพื่อให้ทันสมัยและเป็นสากล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ
วันที่ 11 ธ.ค. 64 นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) กล่าวถึงสาระสำคัญ เรื่อง “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น
การเสพยาเสพติด ยังคงมีโทษอยู่ (ม.162,163) แต่หากผู้เสพสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา และดำเนินการเข้ารับการบำบัดจนครบถ้วน ก็จะไม่มีความผิด ทั้งนี้ บทลงโทษทางกฎหมายยังคงมีอยู่ ซึ่งกฎหมายนี้มีเจตนารมย์ที่จะช่วยเหลือ ให้เข้ารับบำบัดโดยไม่เอาผิดทางอาญา หรือการลดการเป็นอาชญากรรมของผู้เสพ (decriminalization) “มองผู้เสพ เป็นผู้ป่วย” ใช้กระบวนการทางสาธารณสุขและสุขภาพในการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติด” โดยหลักขอให้เข้าใจ ดังนี้
1.กรณีความผิดฐานเสพ และครอบครองเพื่อเสพ กฎหมายยังคงกำหนดเป็นความเป็น ข้อหาเสพ มีโทษจำคุก 1 ปี ครอบครองเพื่อเสพ (ครอบครองในปริมาณเล็กน้อยไม่เกินปริมาณที่กำหนดตามข้อสันนิษฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง) มีโทษจำคุก 2 ปี
2.ผู้เสพ และครอบครองเพื่อเสพที่ตำรวจตรวจพบ โดยไม่ได้เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอื่นที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ไม่มีพฤติกรรมที่อาจก่ออันตรายกับผู้อื่น และผู้นั้นยินยอมเข้าสู่การบำบัดรักษา กฎหมายให้สิทธิแก่ผู้นั้น
โดยให้ตำรวจนำตัวมายังศูนย์คัดกรอง เพื่อประเมินการติดยาเสพติด และส่งเข้ารับการบำบัดรักษาที่สถานพยาบาล หรือสถานฟื้นฟู โดยไม่ต้องนำตัวไปส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี ทั้งนี้ หากผู้นั้นเข้ารับการบำบัดครบถ้วนตามโปรแกรม และได้รับการรับรองว่าเป็นผู้ผ่านการบำบัดฯ ก็ให้ผู้นั้นไม่มีความผิด
3.ผู้ที่ไม่ยินยอมเข้ารับการบำบัด หรือไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับการบำบัดตามข้อ 2 จะถูกส่งตัวไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีและส่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวง โดยกฎหมายจะให้อำนาจศาลพิจารณาโดยเน้นการส่งตัวไปบำบัดรักษา
นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู และผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูกฎหมายนี้ให้มีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม เข้ามาให้การสงเคราะห์ ดูแล ช่วยเหลือ ฝึกอาชีพให้ที่อยู่ชั่วคราว เพื่อให้คนเหล่านี้ ไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีก และขอให้เข้าใจว่า สำหรับข้อหาครอบครองเพื่อเสพ เป็นการกำหนดขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นคุณแก่ผู้เสพ ที่มียาเสพติดไว้ในครอบครองในปริมาณเล็กน้อยสำหรับเสพของตนเอง ซึ่งกฎหมายนี้ จะถือเป็นผู้ป่วยที่จะได้รับการดูแลบำบัดรักษา แทนการถูกดำเนินคดีอาญา หรือการลงโทษจำคุก
“ตามนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เน้นย้ำการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปราบยาเสพติด ซึ่งประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่นี้ ปรับแนวคิดเพื่อให้ทันสมัยและเป็นสากล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ
รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติให้สอดคล้องกับผลการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก (United Nations General Assembly Special Session on the world drugs Problem-UNGASS 2016) โดยยึดหลัก “ผู้เสพ” คือ “ผู้ป่วย” เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว