วัคซีนโควิด โอไมครอน ไบออนเทค

ซีอีโอไบออนเทคชี้ต้องปรับสูตร ‘วัคซีนโควิด-19’ เพื่อต้าน ‘โอไมครอน’

ซีอีโอของไบออนเทค เผยต้องมีการปรับสูตรวัคซีนโควิด-19 เพื่อต้านสายพันธุ์โอไมครอน

Home / NEWS / ซีอีโอไบออนเทคชี้ต้องปรับสูตร ‘วัคซีนโควิด-19’ เพื่อต้าน ‘โอไมครอน’

ประเด็นน่าสนใจ

  • ซีอีโอของไบออนเทค เผยต้องมีการปรับสูตรวัคซีนโควิด-19 เพื่อต้านสายพันธุ์โอไมครอน
  • ระบุสายพันธุ์โอไมครอน อาจเป็นสายพันธุ์ติดต่อสู่ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว
  • ขั้นตอนการพัฒนาสู่การฉีดจริงจะใช้เวลาราว 100 วัน

อูกูร์ ซาฮิน ซีอีโอของไบออนเทค (BioNTech) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติเยอรมัน กล่าวว่าจะต้องมีการปรับสูตรวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เนื่องจากเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน สามารถติดต่อได้ง่ายขึ้นแม้กระทั่งในผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว

ซาฮินกล่าวในการประชุมรอยเตอร์ส เน็กซ์ (Reuters Next) ว่าเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน เป็น “สายพันธุ์หลบหนี” ซึ่งหมายความว่าสายพันธุ์ดังกล่าว “อาจติดต่อสู่ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว” อย่างไรก็ดี ไบออนเทคเข้าใจว่า “ผู้ที่ติดเชื้อหลังรับวัคซีนจะยังคงได้รับการป้องกันจากอาการป่วยรุนแรงของโรคโควิด-19”

การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน 32 จุดจากทั้งหมด 50 จุดที่พบในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อโปรตีนหนาม ซึ่งเชื้อไวรัสฯ ใช้เพื่อเข้าและเพิ่มจำนวนในเซลล์ของมนุษย์ โดยวัคซีนส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่กลไกนี้และบรรดานักวิจัยเชื่อว่าระบบภูมิคุ้มกันอาจไม่สามารถจำแนกโปรตีนดังกล่าวได้อย่างพอเพียงอีกต่อไป เนื่องด้วยจำนวนการกลายพันธุ์สูง

ซาฮินเผยว่าไบออนเทคน่าจะปรับสูตรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทฯ ได้ค่อนข้างเร็ว พร้อมเสริมว่าเขาไม่ได้คาดคิดว่าเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์สูงอย่างโอไมครอน จะปรากฏขึ้นจนกว่าจะถึง “ช่วงปีหน้า”

ไบออนเทคได้เริ่มพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ที่มีการปรับสูตรตามเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอนแล้ว ทว่าวัคซีนตัวใหม่นี้ยังไม่สามารถป้องกันการระบาดระลอกแรกของเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอนได้ เนื่องจากขั้นตอนการพัฒนาสู่การฉีดจริงจะใช้เวลาราว 100 วัน

อนึ่ง เมื่อนับถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ไบออนเทคและไฟเซอร์ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของบริษัทฯ จัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มากกว่า 2,000 ล้านโดส ให้ประเทศและภูมิภาคกว่า 150 แห่งทั่วโลกแล้ว โดยทั้งสองบริษัทคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตวัคซีนจะสูงแตะ 4,000 ล้านโดสในปี 2022

ที่มา : Xinhua