ประเด็นน่าสนใจ
- รองผู้ว่าฯ กทม. เข้มงวดความปลอดภัยของโป๊ะท่าเทียบเรือ ก่อนถึงวันลอยกระทง
- พร้อมสั่งห้ามจุดพลุ ประทัด และห้ามปล่อยโคมลอย
- หากฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
วันนี้ (17 พ.ย.64) นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจสอบความปลอดภัยท่าเทียบเรือและโป๊ะ(ทางน้ำ)บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 6 ท่า ได้แก่ ท่าเรือท่าช้าง เขตพระนคร ท่าเรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า เขตพระนคร ท่าเรือวัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ ท่าเรือวังหลัง (ฝั่งธนบุรี) เขตบางกอกน้อย ท่าเรือสะพานพระปิ่นเกล้า (ฝั่งธนบุรี) เขตบางกอกน้อย และท่าเรือสะพานพระราม 8 เขตบางพลัด โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักเทศกิจ สำนักการระบายน้ำ สำนักการแพทย์ สำนักงานเขตพื้นที่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
โดยกรุงเทพมหานครมีความห่วงใยความปลอดภัยของประชาชนในช่วงเทศกาลงานลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2564 ซึ่งจะมีขึ้น ในวันศุกร์ที่ 19 พ.ย. 64 จึงสำรวจโป๊ะและท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่างๆ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน โดยริมแม่น้ำเจ้าพระยามีโป๊ะและท่าเรือ 260 ท่า มีสภาพปกติสามารถใช้ได้ 230 ท่า แบ่งเป็นท่าเรือเอกชน 169 ท่า ท่าเรือสาธารณะ 59 ท่า ไม่มีเจ้าของ 2 ท่า มีท่าเรือชำรุดต้องปรับปรุงซ่อมแซม 30 ท่า แบ่งเป็นท่าเรือเอกชน 24 ท่า ท่าเรือสาธารณะ 6 ท่า
สำหรับโป๊ะและท่าเรือที่มีสภาพปกติสามารถใช้ได้ กรุงเทพมหานครได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอยู่ประจำทุกจุดเพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน พร้อมทั้งขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
รวมทั้งติดตั้งป้ายแสดงจำนวนสูงสุดที่โป๊ะและท่าเรือรับได้อย่างชัดเจนเพื่อแจ้งเตือนประชาชน โดยอยากขอความร่วมมือประชาชนลงโป๊ะหรือท่าเรือน้อยกว่าจำนวนที่กำหนด 25% เพื่อความไม่ประมาทและความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง พร้อมทั้ง สั่งการให้เรือตรวจการณ์ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ และสำนักการแพทย์ ร่วมตรวจการณ์ในวันงานเพื่อดูแล ความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอีกด้วย
ส่วนโป๊ะและท่าเรือที่มีสภาพชำรุด กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการปิดกั้นท่าเรือและโป๊ะพร้อมทั้งติดตั้งป้ายห้ามใช้งานเรียบร้อยแล้ว สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในวันลอยกระทงฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุด เวลา 17.13 น. ที่ระดับ +1.06 ม.รทก. อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้โป๊ะและท่าเทียบเรือที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐานต้องมีลักษณะ ดังนี้ ตัวท่าเรือและโป๊ะจะมีความมั่นคงแข็งแรง ไม่ผุกร่อน เสากันโป๊ะและอุปกรณ์ยึดโป๊ะมีความมั่นคงแข็งแรง โป๊ะเทียบเรือมีการลอยตัวที่สมดุล มีราวกันคนตกน้ำบนโป๊ะ มีพวงชูชีพติดตั้งไว้ในบริเวณที่สามารถนำไปใช้ได้สะดวก มีป้ายแสดงจำนวนผู้โดยสารที่โป๊ะสามารถรับน้ำหนักได้ ติดตั้งยางกันกระแทก กล้องวงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งบริเวณโป๊ะและ ท่าเทียบเรือสามารถใช้งานได้ไม่มีความชำรุดบกพร่องใดๆ และการเดินทางเข้าถึงโป๊ะและท่าเทียบเรือมีความสะดวกและปลอดภัย ฝ่าฝืนจุดพลุ ปะทัด ปล่อยโคมมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครได้ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานครในช่วงวันลอยกระทง ประจำปี 2564 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยหน่วยงานทุกภาคส่วน และองค์กรภาคีเครือข่าย บูรณาการเตรียมความพร้อม เจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ และยานพาหนะ เพื่อสนับสนุน การปฏิบัติงานร่วมกันของแต่ละหน่วยงาน ทั้งในช่วงก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทงให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ห้ามจุดพลุ-ปล่อยโคมลอย
พร้อมทั้งได้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการป้องกันอันตรายจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ในช่วงวันลอยกระทง ประจำปี 2564 เพื่อขอความร่วมมือจากผู้ผลิต สะสม จำหน่ายผู้เล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอย ตลอดจนประชาชนทั่วไป ห้ามมิให้จุดพลุ ประทัด และห้ามปล่อยโคมลอย
หากฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังห้ามจำหน่าย และห้ามเล่นประทัดจีนทุกชนิด ประทัดรูปทรงกลม รูปไข่ รูปสามเหลี่ยม และไดนาไมท์ ฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ โดยจะดำเนินการกวดขัน จับกุมผู้ฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นเหตุสาธารณภัย สามารถแจ้งเพื่อขอความช่วยเหลือได้ทางโทรศัพท์สายด่วนหมายเลข 199 และ 1555 ตลอด 24 ชั่วโมง
ภาพ : วิชาญ โพธิ