food delivery กฎจราจร นักบิดไรเดอร์

วันแรก!! บังคับใช้กฎหมาย “นักบิดไรเดอร์” ขับขี่หวาดเสียว โทษปรับ 1,000 บาท

วันแรกของการเริ่มต้นมาตรการบังคับใช้กฎหมาย สำหรับนักบิดไรเดอร์ กลุ่มขับประมาทหวาดเสียวปาดซ้ายปาดขวา

Home / NEWS / วันแรก!! บังคับใช้กฎหมาย “นักบิดไรเดอร์” ขับขี่หวาดเสียว โทษปรับ 1,000 บาท

ประเด็นน่าสนใจ

  • วันแรกของการเริ่มต้นมาตรการบังคับใช้กฎหมาย สำหรับนักบิดไรเดอร์ กลุ่มขับประมาทหวาดเสียวปาดซ้ายปาดขวา
  • โดนปรับสูงสุด 1,000 บาท – ยึดรถเป็นของกลางในคดี และมีคำร้องขอให้ศาลริบเป็นของแผ่นดิน
  • การตรวจจับการกระทำผิดจะใช้ 5 วิธี อาทิ ตรวจพบการกระทำผิดซึ่งหน้า , ใช้ชุดสายตรวจจราจรออกตรวจ

วันนี้ ( 15 พ.ย. 64 ) เป็นวันแรกของการ เริ่มต้นมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเข้มข้น สำหรับนักบิดไรเดอร์ กลุ่มขับประมาทหวาดเสียวปาดซ้ายปาดขวา งานเข้าเตรียมโดนปรับสูงสุด 1,000 บาท – ยึดรถเป็นของกลางในคดี และมีคำร้องขอให้ศาลริบเป็นของแผ่นดิน

นับวันปัญหาฝ่าฝืนกฎหมายจราจรยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทั้ง “ฝ่าไฟแดง” – “ขับรถย้อนศร” – “แซงในที่คับขัน” โดยในระยะหลัง พฤติกรรมเช่นนี้พบมากในกลุ่มมอเตอร์ไซค์ สอดคล้องกับข้อมูลระหว่างปี 2558-2562 ที่พบว่าผู้ขับขี่และโดยสารมอเตอร์ไซค์ บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรุนแรงบนท้องถนนรวมกันมากถึง 278,707 ราย คิดเป็น 80% จากยอดรวมอุบัติเหตุ 347,293 ราย

จากรายงานข่าวล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จับมือธุรกิจ Food Delivery ประกาศเริ่มต้นมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อมุ่งหมายในการสร้างวินัยการขับขี่ ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ให้ประชาชนสามารถใช้รถใช้ถนนด้วยความปลอดภัย

ผลการประชุมการบูรณาการความร่วมมือ ในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาคีเครือข่าย จากการกระทำผิดของผู้ใช้รถใช้ถนน กำหนดเป็นมติความร่วมมือ 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

ประเด็นที่ (1) มาตรการบังคับใช้กฎหมาย โดย ตำรวจจะบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มรถ จยย. ที่กระทำผิดอย่างเข้มงวด ดังนี้

  • ขับรถย้อนศร : ปรับไม่เกิน 500 บาท
  • ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร : ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
  • ขับรถโดยประมาทปาดซ้ายปาดขวา : ปรับ 400-1,000 บาท
  • ขับรถรถจักรยานยนต์บนทางเท้า : ปรับตาม พ.ร.บ.จราจรฯ 400 -1,000 บาท / ปรับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ไม่เกิน 5,000 บาท

ทั้งนี้ นอกจากการออกใบสั่งตามปกติแล้ว หากพฤติการณ์การกระทำผิด มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนน หรือประชาชนทั่วไป ตำรวจจะดำเนินคดีในข้อหา “ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000 – 10,000 บาท โดยจะต้องมีการสอบสวนดำเนินคดี และยื่นฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาล ยึดรถใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลางในคดี และมีคำร้องขอให้ศาลริบเป็นของแผ่นดิน

การตรวจจับการกระทำผิดจะใช้ 5 วิธี ดังนี้

  • 1. ตรวจพบการกระทำผิดซึ่งหน้า
  • 2. ใช้ชุดสายตรวจจราจรออกตรวจ
  • 3. ตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร
  • 4. ใช้กล้องตรวจจับความผิด
  • 5. รับข้อมูลจากประชาชน (คลิปกล้องหน้ารถหรือคลิปจากมือถือ)

ประเด็นที่ (2) ความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ในการกำกับติดตามผู้กระทำผิดกฎหมาย ระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กรมการขนส่งทางบก และบริษัทส่งสินค้าและอาหารเดลิเวอรี ร่วมบูรณาการใช้มาตรการองค์กร กำกับดูแลผู้ขับขี่ในสังกัดให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยบริษัทจะเพิ่มหมายเลขพนักงานหลังเสื้อบริษัท

ประเด็นที่ (3) สร้างช่องทางส่งคลิปกล้องหน้ารถ ที่บันทึกภาพเหตุการณ์การกระทำผิดกฎหมายจราจร และมีพฤติการณ์การขับขี่ที่ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามดำเนินคดีกับผู้ขับขี่มาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยหากพบการกระทำผิดและมีคลิปบันทึกเหตุการณ์สามารถส่งคลิปมาได้ในช่องทางที่กำหนด ได้แก่

  • ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร.
  • เฟซบุ๊ก : JS100 Radio
  • เฟซบุ๊ก : สวพ.91
  • มูลนิธิเมาไม่ขับ : เพจอาสาตาจราจร

ภาพ : วิชาญ โพธิ