เจอจ่ายจบ โควิด-19

คปภ. แถลงกรณีประกันโควิด เจอ จ่าย จบ

ในโลกออนไลน์มีการแชร์กรณี มีบริษัทประกนภัยแห่งหนึ่งได้ส่ง SMS ไปยังลูกค้า ให้ยกเลิกกรมธรรม์โควิด-19 แบบ เจอจ่ายจบ

Home / NEWS / คปภ. แถลงกรณีประกันโควิด เจอ จ่าย จบ

ประเด็นน่าสนใจ

  • ในโลกออนไลน์มีการแชร์กรณี มีบริษัทประกนภัยแห่งหนึ่งได้ส่ง SMS ไปยังลูกค้า ให้ยกเลิกกรมธรรม์โควิด-19 แบบ เจอจ่ายจบ
  • จากการหารือร่วม ห้ามบริษัทประกันภัยฯ ยกเลิกหรือบังคับ แต่ให้เสนอทางเลือกที่น่าสนใจและเกิดประโยชน์กับผู้เอาประกันภัยมากขึ้น โดยต้องเป็นความสมัครใจเท่านั้น
  • พร้อมพิจารณามาตรการเยียวยา บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบจากการเสนอขายประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ เข้าร่วมโครงการผ่อนผันเพิ่มเติม
  • เพื่อเสริมมาตรการเยียวยาให้บริษัทมีสภาพคล่องพร้อมที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัย COVID-19

จากกรณีสื่อออนไลน์ได้มีการเผยแพร่ ระบุว่ามีบริษัทประกนภัยแห่งหนึ่งได้ส่ง SMS ไปยังลูกค้า เพื่อเสนอแนวทางคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ทั้งการให้ยกเลิกกรมธรรม์โควิด-19 แบบ เจอจ่ายจบ หรือเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์อื่นแทนภายใน 7 วัน เพื่อไม่ให้ได้รบผลกระทบจากสภาพคล่องของบริษัทฯ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนและผู้ที่เอาประกันภัยเกิดความสับสน และกระทบความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัย

ล่าสุดวันนี้ (15 พ.ย.64) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดย ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. พร้อมคณะผู้บริหาร คปภ. ร่วมแถลงข่าว ”กรณีปัญหาการประกันภัยโรคโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ”

ดร.สุทธิพล กล่าวว่า จากการประชุมหารือกับทางนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และกรรมการบริหารสมาคมฯ และบริษัทประกันวินาศภัยที่เสนอขายประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ โดยที่ประชุมมีมติดังนี้

  • 1. การดำเนินการในแก้ปัญหา สำนักงาน คปภ. จะยึดถือประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ
  • 2. คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท ในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ยังมีผลบังคับตามกฎหมายอยู่ บริษัทต้องปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว ส่วนประเด็นที่ยังเห็นไม่สอดคล้องกัน จะได้มีการหารือร่วมกัน เพื่อให้ได้มาตรการ ที่เหมาะสมต่อไป
  • 3. สำนักงาน คปภ. ได้รับทราบความเดือดร้อนของภาคธุรกิจและยินดีให้ความช่วยเหลือเพื่อให้พ้นวิกฤต โดยที่ผ่านมา คปภ. ได้ผ่อนคลายกฎกติกาให้ไปแล้วหลายเรื่อง แต่มาตรการการช่วยเหลือบริษัทที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด จะต้องขึ้นอยู่กับสถิติ ตัวเลขข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกต้อง แม่นยำและผลกระทบต่าง ๆ ในทุกมิติ ซึ่งต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ และที่สำคัญจะต้องไม่ทำให้ผู้เอาประกันภัยเดือดร้อน และต้องไม่เป็นการรอนสิทธิของประชาชนผู้เอาประกันภัย
  • 4. จะเร่งเชิญบริษัทประกันวินาศภัยที่เสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ มาสอบถามและขอข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการจัดทำ Stress Test เพื่อประเมินความทนทานของรายบริษัทและระบบประกันภัยภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงจำลองสำหรับการแพร่ระบาดของ COVID-19
  • 5. บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบจากการเสนอขายประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ อาจพิจารณา เข้าร่วมโครงการผ่อนผันเพิ่มเติม เพื่อเสริมมาตรการเยียวยาให้บริษัทมีสภาพคล่องพร้อมที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัย COVID-19 ให้กับผู้เอาประกันภัยได้มากขึ้น
  • 6. หากสมาคมฯ ต้องการเสนอมาตรการผ่อนผันเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบ ให้เร่งนำเสนอ เพื่อสำนักงาน คปภ. จะได้กลั่นกรองและเร่งนำเสนอต่อบอร์ด คปภ. โดยเร็ว
  • 7. ในระหว่างที่มีการดำเนินการข้างต้น หากบริษัทประกันวินาศภัยใดที่ประสบปัญหาต้องการดำเนินการเพื่อมิให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องลุกลามบานปลาย การเสนอแนวทางปรับปรุงเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19

โดยเสนอทางเลือก\ที่น่าสนใจในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยประเภทเดิม หรือปรับเปลี่ยนไปให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นที่อาจเป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัยมากขึ้น สามารถกระทำได้เฉพาะกรณีที่เป็นเรื่อง ความสมัครใจของผู้เอาประกันภัยเท่านั้น บริษัทไม่สามารถไปบังคับผู้เอาประกันภัยให้ยอมรับการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย หรือยอมรับเงื่อนไขความคุ้มครองใหม่ของบริษัท

ดังนั้น การเปลี่ยนสิทธิหน้าที่หรือความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยจะสามารถกระทำได้เฉพาะในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยได้มีการแสดงเจตนา หรือให้ความยินยอมโดยชัดแจ้งในการตอบรับข้อเสนอของบริษัทเท่านั้น

กรณี บริษัท เดอะ วันฯ

นอกจากนี้ ในกรณีของบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ให้ผู้บริหารของบริษัทชี้แจงและได้ตรวจสอบ\ข้อเท็จจริงแล้ว ได้รับการยืนยันว่า การดำเนินการของบริษัทเป็นการเสนอทางเลือกให้กับผู้เอาประกันภัย โดยเป็นไป ด้วยความสมัครใจของผู้เอาประกันภัย จะไม่มีการบังคับผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด

โดยเป็นวิธีการที่บริษัทพยายามหาแนวทางบริหารความเสี่ยงเพื่อลดปัญหาการขาดสภาพคล่องเพื่อให้อยู่รอดได้ และยืนยันจะปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียน โดยสำนักงาน คปภ.ได้กำชับให้บริษัทดำเนินการดังกล่าว ด้วยความสมัครใจของผู้เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยไม่ยอมรับทางเลือกที่เป็นข้อเสนอของบริษัท สัญญาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยก็ยังมีผลบังคับต่อไปเหมือนเดิมทุกประการ