กระทรวงสาธารณสุข ยาแพกซ์โลวิด โควิด-19

สธ. หารือบริษัทไฟเซอร์ เตรียมนำเข้า ‘ยาแพกซ์โลวิด’

ทางกระทรวงสาธารณสุขเตรียมหารือกับบริษัทไฟเซอร์ เรื่องการนำเข้า 'ยาแพกซ์โลวิด'

Home / NEWS / สธ. หารือบริษัทไฟเซอร์ เตรียมนำเข้า ‘ยาแพกซ์โลวิด’

ประเด็นน่าสนใจ

  • รัฐบาลได้มีการพิจารณาในการเตรียมความพร้อม การจัดหายาสำหรับรักษาโควิด-19
  • จัดสรรงบประมาณให้กรมการแพทย์ จำนวน 500 ล้านบาท ในการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์
  • ทางกระทรวงสาธารณสุขเตรียมหารือกับบริษัทไฟเซอร์ เรื่องการนำเข้า ‘ยาแพกซ์โลวิด’
  • ยาแพกซ์โลวิด ช่วยลดอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลง 89%

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการจัดหายาสำหรับรักษาโควิด-19 ว่า ขณะนี้รัฐบาล ได้มีการพิจารณาในการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้แล้ว ทั้งในส่วนของยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิด โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 1.3 พันล้านบาท

ซึ่งการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ อยู่ภายใต้งบประมาณดังกล่าวดังกล่าวด้วย โดยจัดสรรงบประมาณให้กรมการแพทย์ จำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และนำมาใช้ได้ในช่วงธันวาคม 2564 หรือประมาณมกราคม 2565

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังเตรียมหารือกรณียาแพกซ์โลวิดร่วมกับบริษัท ไฟเซอร์ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ยืนยันรัฐบาลจะพยายามจัดหายาที่มีคุณภาพสำหรับมารักษาผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งรองรับการเปิดประเทศให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ จากผลการทดสอบยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิด พบมีประสิทธิผลช่วยลดอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ผลดี ไม่ว่าจะเป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์ไหนและยังไม่พบว่ามีอาการข้างเคียงรุนแรง โดยยาโมลนูพิราเวียร์ สามารถช่วยลดอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลง 50%

ขณะที่ยาแพกซ์โลวิด ช่วยลดอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลง 89% ในส่วนของยาที่ใช้อยู่ปัจจุบัน สถานการณ์ยาคงเหลือ ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน พบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ คงเหลือ 21 ล้านเม็ด และยาเรมเดซิเวียร์ คงเหลือ 7 หมื่นกว่าเม็ด เพียงพอต่อความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วย