รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ศาลรัฐธรรมนูญ อานนท์ นำภา ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก

ศาลรธน. วินิจฉัย อานนท์-รุ้ง-ไมค์ เข้าข่าย เป็นล้มล้างการปกครอง

พร้อมให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าวในอนาคต

Home / NEWS / ศาลรธน. วินิจฉัย อานนท์-รุ้ง-ไมค์ เข้าข่าย เป็นล้มล้างการปกครอง

วันนี้ (10 พ.ย. 2563) ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัยในคดีที่นายณฐพร โตประยูร ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่า การกระทำของ

  • นายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1
  • นายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2
  • น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3
  • นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ถูกร้องที่ 4
  • น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ผู้ถูกร้องที่ 5
  • น.ส.สิริพัชระ จึงธีรพานิช ผู้ถูกร้องที่ 6
  • นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ถูกร้องที่ 7
  • น.ส.อาทิตยา พรพรม ผู้ถูกร้องที่ 8

ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยได้มีการอ่านข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน จำนวน 10 ข้อ ว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมมนูญ ได้เริ่มอ่านคำวินิจฉัยโดยใช้เวลาอ่านคำวินิจฉัย โดยวินิจฉัยว่า จากการพิจารณาคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พยานหลักฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงได้ยุติการไต่สวน ตามพ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561

กำหนดประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำของนายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1 นายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 เป็นการใช้สิทธิ์หรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจง และคำปราศรัย ฟังเป็นยุติว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสาม คือ นายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1 นายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 ปราศรัยในที่สาธารณะหลายครั้ง หลายสถานที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2563 โดยการเรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันฯ โดยการชุมนุมเมื่อ วันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

กรณีมีข้อโต้แย้งที่ต้องวินิจฉัยว่า คำร้องคลุมเครือไม่ชัดเจน ไม่ครบองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หรือไม่ เมื่อพิจารณาคำร้อง เป็นคำร้องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า เป็นการปราศรัยที่ผู้ถูกร้องที่ 1, 2, และ 3 เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เวทีธรรมศาสตร์ จะไม่ทน มีเนื้อหาบิดเบือน จาบจ้วง ล้อเลียน หมิ่นสถาบันฯ เป็นการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างการปกครองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยได้มีการถอดคลิปเสียง ผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 กับพวกแนบท้ายมากับคำร้อง

คำร้องจึงมีความชัดเจน และเพียงพอให้ผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 เข้าใจสภาพการกระทำที่เป็นข้อกล่าวหา สามารถต่อสู้คดีได้ ดังนั้นข้อโต้แย้งจึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่า การกระทำของนายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1 นายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 เป็นการใช้สิทธิ์หรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 หรือไม่

พิจารณาเห็นว่า หลักการตามรัฐธรรมนูญ วางรากฐานระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกอบด้วยคุณค่าสำคัญทางรัฐธรรมนูญ ได้แก่ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 บัญญัติไว้เรื่อยมาโดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับ การใดที่ไม่ได้ห้าม หรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือในกฎหมายอื่น บุคคลมีสิทธิ์ที่จะกระทำได้ ตราบเท่าที่ การใช้สิทธินั้น ไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของสังคม หรือไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น

หลักรัฐธรรมนูญได้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกกรณี ทั้งที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ หรือไม่ได้มีกฎหมายอื่นห้ามหรือจำกัดไว้ โดยมีเงื่อนไขว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพต้องไม่กระทบไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เมื่อบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพ ย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาด้วย ปรากฎชัดในรัฐธรรมนูญ หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 อนุมาตรา 1, 3 และ 6 รวมถึงรวมถึงมาตรา 49 ที่เกี่ยวข้องกับ บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เคารพและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม

มาตรา 49 วรรค 1 บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

วรรค 2 บัญญัติว่า ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตาม วรรค 1 ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อร้องขอศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยสั่งการ ให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

วรรค 3 บัญญัติว่า ในกรณีทีอัยการสูงสุดไม่รับดำเนินการตามคำร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่คำร้องขอ ผู้ร้องจะขอยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

วรรค 4 บัญญัติว่า การดำเนินการตามมาตรานี้ ไม่กระทบต่อการคดีอาญาต่อผู้กระทำตามวรรค 1

โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เป็นการปกป้องปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งกำหนดให้ผู้ที่ทราบการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิร้องขอต่ออัยการสูงสุด และหากอัยการไม่ดำเนินการตามคำร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้ และได้กำหนดให้ไม่เป็นการกระทบต่อการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำการต่อผู้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น รัฐธรรมนูญ มุ่งหมายให้ประชาชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการคุ้มครอง พิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจทำหน้าที่ตรวจสอบ และวินิจฉัย สั่งการให้เลิกการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ตาม มาตรา 49 วรรค 1

และมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ถูกบัญญัติครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2475 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2495 มาตรา 35 และบัญญัติในทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เป็นการวางหลักปกป้องระบอบประชาธิปไตยฯ จากภัยคุกคามอันเกิดจากการกระทำจากการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งหมายให้หลักการทางรัฐธรรมนูญ และคุณค่าที่รองรับการดำรงอยู่ของระบบประชาธิปไตยฯ สูญเสียไป

หลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 2 ปรากฎเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และบัญญัติในทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดย เมื่อมีผู้ทราบว่า มีผู้กระทำการอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ผู้นั้นมีสิทธิ์ในการร้องขอต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าว และ รัฐธรรมนูญ ในปี 2560 ได้บัญญัติเพิ่ม กรณีหากอัยการสูงสูดไม่รับคำร้องขอ สามารถดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ โดยเป็นการรับรองสิทธิของพลเมือง ในการปกป้องบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ในการล้มล้างการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยฯ ดังนั้นการใช้สิทธิการปกป้องจึงถือเป็นการใช้สิทธิในการปกป้องรัฐธรรมนูญ

ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เอกสารประกอบคำร้อง และพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จ.ปทุมธานี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ส่งศาลรัฐธรรมนูญ

ว่าเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ว่าผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 จัดเวทีชุมนุมปราศรัย เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ในการปราศรัย ผู้ถูกร้องที่ 1 กล่าวถึงสถาบันฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญมีบทลักษณะห้ามใช้สิทธิและเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ตามที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 รัฐธรรมนูญ ปี 2550 และ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555 และคำวินิจฉัยที่ 3/2562 นั้น เป็นการวางหลักคำว่า ล้มล้าง ว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญ และระบอบการปกครองที่สุดวิสัยจะแก้ไขกลับคืนได้ นอกจากนั้นเป็นการกระทำโดยมีเจตนา ทำลาย หรือล้างผลาญให้สูญสลายหมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่อีกต่อไป

การใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมือง ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ และให้มียกเลิกกฎหมายที่ห้ามมิให้ผู้ใดล่วงละเมิด หรือหมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งการแก้ไขกฎหมาย และรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะส่งผลให้ สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพ สักการะ อันนำไปสู่ความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันเกินความพอเหมาะพอควร อันเป็นผลให้ กระทบกระเทือนและอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน อันจะนำไปสู่การบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยฯ ในที่สุด

พระมหากษัตริย์กับชาติไทย ดำรงอยู่กับชาติไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และดำรงอยู่ด้วยกันในอนาคต แม้ประเทศไทยจะมีระบอบการปกครองประชาธิปไตยแล้ว ปวงชนชาวไทยยังเห็นพ้องร่วมกัน อันเชิญอันเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นสถาบันหลักของชาติไทย ถวายความเคารพสักการะผู้ใดละเมิดมิได้ เพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ดังปรากฎในรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ปี 2475

โดยมาตรา 1 บัญญัติว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย

มาตรา 2 บัญญัติว่า ให้มีบุคคล และคณะบุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฏร คือ

1.) กษัตริย์
2.) สภาผู้แทนฯ
3.) คณะกรรมการราษฏร
4.) ศาล

มาตรา 3 บัญญัติว่า กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ

พ.ร.บ. , คำวินิจฉัยของศาล, กฎหมายอื่น ๆ ที่ระบุไว้เฉพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามกษัตริย์ ต่อมาได้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ปี 2475 เห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์การปกครองของไทย อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดนับแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์มีพระราชภารกิจสำคัญยิ่งเพื่อรักษาความอยู่รอดของบ้านเมืองและประชาชน ดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย นำกองทัพต่อสู้ปกป้อง และขยายราชอาณาจักรตลอดเวลา ในยุคที่ผ่านมาถือหลักปกครองตามหลักศาสนา และทศพิธราชธรรมปกครอง พระมหากษัตริย์จึงเป็นที่เคารพศรัทธา ศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดเป็นเวลาหลายร้อยปี

ดังนั้นแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทย เมื่อปี 2475 คณะราษฎรผู้ก่อการ และประชาชนชาวไทย จึงยังคงเห็นพ้องต้องกันอันเชิญพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักคงอยู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเรียกว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และราชอาณาจักรไทยได้คงไว้มาโดยตลอด ทำนองเดียวกับประเทศต่าง ๆ ที่มีความเป็นมาของชาติแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันประการหนึ่งคือ เอกลักษณ์ หรือสัญลักษณ์ของชาติ รวมถึงสมบัติชาติ จะมีกฎหมายห้ามทำให้มีมลทิน หรือชำรุด

ข้อเรียกร้องที่ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เป็นบทบัญญัติที่ให้การรับรองพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐ ที่ผู้ใดจะกล่าวหาละเมิดมิได้ จึงเป็นการกระทำเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 เป็นการเซาะกร่อน ทำลายระบอบประชาธิปไตยฯ

การออกมาเรียกร้อง โจมตีในที่สาธารณะ อ้างเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังละเมิดสิทธิและเสรีภาพประชาชนอื่นที่เห็นต่างได้ด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นทำตาม ยิ่งกว่านั้น การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย แม้การปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 25643 ในเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ได้ จะผ่านไปแล้ว ภายหลังจากที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว ก็ยังปรากฎว่า ผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 ยังคงร่วมชุมนุมกับบุคคลต่าง ๆ โดยใช้วิธีการเปลี่ยนรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลปราศรัย ใช้กลยุทธเป็นแบบไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่องด้วยบุคคลที่มีแนวคิดเดียวกัน การเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีลักษณะเป็นขบวนการเดียวกัน และเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก

ผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 มีพฤติการกระทำซ้ำ และกระทำอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระทำเป็นการขบวนการ โดยมีการปลุกระดม และใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่มีลักษณะของการก่อให้เกิดความวุ่นวาย และความรุนแรงในสังคม

ระบอบประชาธิปไตยฯ มีหลักการสำคัญสามประการคือ

  • เสรีภาพ หมายถึงทุกคนมีสิทธิที่จะคิด พูด และทำอะไรได้ตามที่ไม่มีกฏหมายห้าม
  • เสมอภาค หมายถึง ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน
  • ภราดรภาพ หมายถึง บุคคลทั้งหลายมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความสามัคคีกัน

ระบอบประชาธิปไตยฯ ด้วยความผูกพันธ์ของปวงชนชาวไทย กับพระมหากษัตริย์ที่มีมานับหลายร้อยปี พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขจึงได้รับความยินยอมจากปวงชนชาวไทยให้ทรงใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ รัฐสภา และศาล

สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เป็นเสาหลักสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ ในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยฯ ดังนั้นการกระทำใด ๆ ที่เป็นการกระทำเพื่อทำลาย หรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสลายไป ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน หรือการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลในการบ่อยทำลาย ด้อยคุณค่า หรือมีเจตนา ทำลายสถาบันฯ

การใช้สิทธิของผู้ผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยฯ เป็นการอ้างสิทธิและเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่อ้างอิงหลักความเสมอภาพ และภราดรภาพ ผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยไม่รับฟังความเห็น ของผู้อื่น ไม่ยอมรับความยอมเห็นที่แตกต่าง รวมถึงล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของผู้ที่เห็นต่างด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยง ปลุกปั่นด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง

จึงปรากฏข้อเท็จจริงประจักษ์ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะเป็นเครือข่าย มีการใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง บางเหตุการณ์ผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 มีส่วนจุดประกายในการอภิปราย ปลุกเร้า ให้ใช้ความรุนแรง ในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทำลายหลักความเสมอภาค และภราดรภาพ ผลการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 นำไปสู่การล้มล้างการปกครองประชาธิปไตยฯ ในที่สุด

ข้อเท็จจริงยังปรากฎอีกว่า มีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ำเงิน ออกจากธงไตรรงค์ ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ของ ผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 เช่นการยกเลิก มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ, การยกเลิกการบริจาค-รับบริจาคโดยพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้สถานะของพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองตามระบบประชาธิปไตยฯ ของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติตลอดมา

ทั้งพฤติการและเหตุการณ์ต่อเนื่อง จากการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 อย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็น มูลเหตุจูงใจของผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 ว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 มีเจตนาเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยฯ ไม่ใช่การปฏิรูป การใช้สิทธิผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจในการล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1

แม้เหตุการณ์ตามคำร้องได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 รวมทั้งกลุ่มเครือข่ายยังคงกระทำการต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุอันนำไปสู่การล้มล้างระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ รัฐธรรมนูญ วรรค 2 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว ที่จะกระทำในอนาคตได้

ด้วยเหตุข้างต้นโดยผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ ในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 และสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 กลุ่มองค์กรและเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 2


เพิ่มเติม – https://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/article_20211110174749.pdf