ชาวนา ประกันรายได้ข้าว ราคาข้าว

รัฐบาลแจง เริ่มจ่ายส่วนต่างประกันรายได้ข้าว งวดแรก 9 พ.ย.นี้

ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวงวดแรก ในวันที่ 9 พ.ย. นี้

Home / NEWS / รัฐบาลแจง เริ่มจ่ายส่วนต่างประกันรายได้ข้าว งวดแรก 9 พ.ย.นี้

ประเด็นน่าสนใจ

  • ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวงวดแรก ในวันที่ 9 พ.ย. นี้
  • เพื่อสร้างความแน่นอนในเรื่องรายได้ ดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวครอบคลุมกว่า 4.68 ล้านครัวเรือน
  • โดยประกันรายได้ให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 (รอบที่1)

วันที่ 6 พ.ย. 64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ตามที่รัฐบาลได้เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อสร้างความแน่นอนในเรื่องรายได้ ดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวครอบคลุมกว่า 4.68 ล้านครัวเรือน โดยประกันรายได้ให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 (รอบที่1)

ซึ่งทาง ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรก ในวันที่ 9 พ.ย. นี้ ซึ่งเงินส่วนต่างที่จะโอนเข้าบัญชีเกษตรกรในงวดแรกนี้ แบ่งเป็น

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ 4,135.77 บาท/ตัน
  • ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 3,592.25 บาท/ตัน
  • ข้าวหอมปทุมธานี 1,052.14 บาท/ตัน
  • ข้าวเจ้า 1,934.62 บาท/ตัน
  • ข้าวเหนียว 4337.47 บาท/ตัน

โดยข้าวทุกชนิด ณ ความชื้น 15% จำนวนตันตามเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมกันนี้ ก็จะเดินหน้ามาตรการคู่ขนานรักษาระดับเสถียรภาพราคา โดยทางกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า เกษตรกรที่รวมข้าวเข้าจัดเก็บในยุ้งฉาง จะได้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท สหกรณ์และโรงสีได้สภาพคล่องชดเชยดอกเบี้ย 3% (สหกรณ์ได้ระยะเวลา 1 ปี ส่วนโรงสีได้ระยะเวลา 6 เดือน) ส่วนผู้ค้าข้าว ชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อก 3% เพื่อเป็นการชะลอการขายข้าวสู่ตลาดในช่วงที่มีผลผลิตออกมามาก

ควบคู่กันไป กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งระบายข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศผ่านมาตรการส่งเสริมการส่งออก และเมื่อผนวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง คาดว่าแนวโน้มในปีนี้ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้า ที่ปริมาณ 6 ล้านตัน นับตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. เป็นต้นมา จะเห็นว่าตัวเลขส่งออกมีปริมาณมากขึ้น ตลาดหลักที่ไทยส่งออกได้เพิ่ม อาทิ จีน ฟิลิปปินส์ แคเมอรูน มาเลเซีย โมซัมบิก และสิงคโปร์ สถิติการขอใบอนุญาตส่งออกข้าว ตอนนี้เป็นเดือนละ 7-8 แสนตัน ขณะที่ครึ่งปีแรกประมาณเดือนละ 4-5 แสนตันเท่านั้น

“การส่งออกข้าวไทยที่กลับมาฟื้นตัว เป็นผลมาจากความสำเร็จจากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาคเอกชนของไทยและกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านการตลาดต่างประเทศ ดำเนินการภายใต้หลักการ “ตลาดนำการผลิต” ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศ ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และทูตพาณิชย์ในฐานะเซลส์แมนประเทศเร่งการเจรจาหารือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า

และประชาสัมพันธ์ข้าวไทยกับคู่ค้าสำคัญอย่างต่อเนื่อง เช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย ทำให้คู่ค้าเชื่อมั่นในศักยภาพในการส่งออกข้าวคุณภาพของไทย แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และหันมาสนใจนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2–3 เดือนที่ผ่านมา” นางสาวรัชดา กล่าว