นายกรัฐมนตรี ประชุม COP26 ไม่มีแผนสอง

โฆษก รบ. แจงกรณีแนวคิดนายกฯ เรื่อง “ไม่มีแผนสอง-โลกใบที่สอง”

มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงการกล่าวถ้อยแถลงของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในการประชุม COP26 ว่ามีความคล้ายกับคำกล่าวของผู้นำ/บุคคลสำคัญก่อนหน้านี้

Home / NEWS / โฆษก รบ. แจงกรณีแนวคิดนายกฯ เรื่อง “ไม่มีแผนสอง-โลกใบที่สอง”

ประเด็นน่าสนใจ

  • มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงการกล่าวถ้อยแถลงของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในการประชุม COP26 ว่ามีความคล้ายกับคำกล่าวของผู้นำ/บุคคลสำคัญก่อนหน้านี้
  • โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยไม่ใช่เรื่องผิด เหตุแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับผู้นำประเทศอื่น ๆ
  • ระบุที่ผ่านมา แนวคิดดังกล่าวมีความคล้ายคลึง อาทิคำกล่าวของ บัน คี มูน / บารัค โอบามา / เอมานูเอล มาครง

จากกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงการกล่าวถ้อยแถลงของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในการประชุม COP26 ว่ามีความคล้ายกับคำกล่าวของผู้นำ/บุคคลสำคัญก่อนหน้านี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า

นายกฯ ในฐานะตัวแทนประเทศไทยต้องการเน้นย้ำถึงจุดยืนและเจตนารมณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ว่าไทยมีความมุ่งมั่น และ “พร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ และทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการแก้ปัญหาครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก เพราะภารกิจนี้คือความเป็นความตายของโลกและอนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน” ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับผู้นำประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการ และมีความตระหนักรู้ร่วมกันในเป้าหมายที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประชาคมโลกบรรลุเป้าหมายเดียวกัน

ส่วนที่มีคำคล้ายกันคือเรื่อง “no plan B “ อยากให้เปิดใจและมองว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ทั่วโลกควรให้ความสำคัญและตระหนักถึงในประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เราไม่อาจนิ่งเฉยได้ โดย นายกฯ ต้องการย้ำให้เห็นว่า “หากพวกเราทุกคนยังนิ่งเฉยไม่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง เราไม่อาจมีแผนสำรอง หรือแผนสองกับเรื่องนี้ได้ เพราะโลกของเรามีแค่ใบเดียว” ซึ่งหมายความว่า โลกไม่สามารถรอคอยได้อีกแล้ว ต้องลงมือแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ และอีกนัยหนึ่งคือ หากข้อตกลงในปัจจุบันไม่สามารถบรรลุได้ เราจะวางแผนให้โลกมีความมั่นคงมากขึ้นได้อย่างไร

ที่ผ่านมา มีผู้นำโลกหลายท่านได้เคยกล่าวถึงในประเด็นที่คล้ายคลึงกันนี้ อาทิ นายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อปี 2014 นายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ในเรื่องแผนพลังงานสะอาดของสหรัฐ สมัยดำรงตำแหน่ง เมื่อปี 2015 นายเอมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในสภาสหรัฐฯ (US Congress) เมื่อปี 2018 นายจอห์น เคอร์รี่ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ และนางสาวเกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น ความคล้ายคลึงในเรื่องคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีจึงไม่ใช่เรื่องผิด เนื่องจากผู้นำระดับโลกล้วนมีแนวคิดที่สอดคล้องกันในการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศของโลก และต่างเห็นพ้องมองว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันวางแผนการสำคัญแผนเดียวกัน ไม่มีแผนสอง เพราะโลกของเรามีเพียงใบเดียวเท่านั้น

โดยโฆษกประจำสำนักฯ เผยว่านายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการเข้าร่วมการประชุม COP26 และเดินทางถึงประเทศไทยว่า ทราบถึงกระแสข่าวดังกล่าวดี และกล่าวว่า ไม่ได้ให้ความสนใจ ผู้นำสามารถมีความคิดเหมือนกันได้ ซึ่งนายกฯ ได้สอบถามกระทรวงการต่างประเทศว่าการใช้คำว่า plan B มีปัญหาหรือไม่ คำว่า plan B เป็นศัพท์ของกระทรวงการต่างประเทศ เวลาพูดหรือดำเนินการต่าง ๆ ก็มีคำว่า plan A และ plan B ซึ่งหลายประเทศก็ใช้กัน

โดยถ้อยแถลงดังกล่าวนายกฯ ต้องการเน้นย้ำว่า โลกเรามีใบเดียว ไม่มีโลกใบใหม่ ให้ลูกหลานเราอีกแล้ว ถ้าหากเราทำให้โลกเสียหาย” ซึ่งในที่ประชุม ผู้นำทั้งหมดกว่า 120 ประเทศยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง และในฐานะที่เป็นผู้นำในเวลานี้ต้องปฏิบัติให้ได้ ที่ผ่านมา 3-4 ปี อาจจะช้าเกินไป ในการที่จะลดอุณหภูมิโลกให้ลดลง และวันนี้ โลกก็เตือนเราแล้ว ภัยพิบัติต่างๆ ก็เริ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ นายกฯ ก็ได้นำเสนอถึงสิ่งที่ประเทศไทยทำได้ และทำมาแล้ว โดยในคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีก็ได้ชี้ชัดถึงสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว และประกาศว่า ไทยพร้อมร่วมมือ โดยรัฐบาลเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นหน้าที่ของผู้นำในเวลานี้และก่อนหน้านี้ และต้องมองทั้งปัจจุบันและอนาคต เชิงรุกและเชิงรับ ต้องการให้ประเทศไทยพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ตามนโยบายในการ “พลิกโฉมประเทศ” ในทุกด้าน แต่ก็ขึ้นกับประชาชนทุกคนจะเข้าใจ และมองอนาคตร่วมกัน โดยได้กำชับทุกหน่วยงาน ทุกคณะกรรมการให้บูรณาการการทำงาน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง