ยาฟาวิพิราเวียร์ ยารักษาโควิด-19

แถลงจับเครือข่ายจำหน่าย ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ ออนไลน์

ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วม อย. และ อภ. ร่วมแถบวจับกุมเครือข่ายลักลอบจำหน่าย 'ยาฟาวิพิราเวียร์' ยี่ห้อฟาเวียร์ทางสื่อออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต

Home / NEWS / แถลงจับเครือข่ายจำหน่าย ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ ออนไลน์

ประเด็นน่าสนใจ

  • ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วม อย. และ อภ. ร่วมแถบวจับกุมเครือข่ายลักลอบจำหน่าย ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ ยี่ห้อฟาเวียร์ทางสื่อออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต
  • ระดมตรวจค้นเป้าหมาย 8 จุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 9 ราย
  • ผู้ต้องหาส่วนหนึ่งให้การว่า ยาดังกล่าวได้มาจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง

วันที่ 27 ตุลาคม 2564 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีจับกุมเครือข่ายผู้ต้องหาลักลอบจำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ทางสื่อออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ระดมตรวจค้นเป้าหมาย 8 จุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 9 ราย พร้อมยึดยาฟาเวียร์ของกลาง จำนวน 390 กล่อง

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้ตรวจสอบพบการลักลอบจำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ทางสื่อออนไลน์ จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สืบสวนเส้นทางการลักลอบจำหน่ายยาดังกล่าว รวบรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติออกหมายจับผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 9 ราย

ในวันที่ 26 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 หน่วยงานเข้าตรวจค้นเป้าหมาย จำนวน 8 จุด ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่อยู่ในกระบวนการลักลอบจำหน่ายยาฟาเวียร์โดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 9 ราย ตรวจยึดยาฟาเวียร์ได้จำนวน 390 กล่อง โดยผู้ต้องหาส่วนหนึ่งให้การว่า ยาดังกล่าวได้มาจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง

ซึ่งสั่งซื้อในนามโรงพยาบาลจากองค์การเภสัชกรรม แล้วนำออกมาจำหน่ายเพื่อหากำไร โดยมีราคาต้นทุนอยู่ที่ กล่องละ 1,600 บาท แต่เมื่อนำมาจำหน่ายทางสื่อออนไลน์สามารถจำหน่ายได้ในราคาถึงกล่องละ 4,000-8,000 บาท ซี่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมด พร้อมสืบสวนขยายผลถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งขบวนการต่อไป

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา: อย.