ข่าวต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา โควิด-19

นักวิจัยพัฒนา ‘สารประกอบเคมี’ สกัดโควิด-19 ดีกว่าเรมเดซิเวียร์

คณะนักวิจัย ของสหรัฐฯ พัฒนาสารประกอบทางเคมีที่ชื่อ “เอ็มเอ็ม3122” (MM3122)

Home / NEWS / นักวิจัยพัฒนา ‘สารประกอบเคมี’ สกัดโควิด-19 ดีกว่าเรมเดซิเวียร์

ประเด็นน่าสนใจ

  • คณะนักวิจัย ของสหรัฐฯ พัฒนาสารประกอบทางเคมีที่ชื่อ “เอ็มเอ็ม3122” (MM3122)
  • สามารถปกป้องเซลล์จากความเสียหายที่เกิดจากเชื้อโควิด ได้ดีกว่ายาเรมเดซิเวียร์
  • ผลการศึกษาข้างต้นได้รับการเผยแพร่ผ่านวารสารพีเอ็นเอเอส (PNAS) ของสหรัฐฯ

คณะนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเมืองเซนต์หลุยส์ของสหรัฐฯ ได้พัฒนาสารประกอบทางเคมีที่ชื่อ “เอ็มเอ็ม3122” (MM3122) ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ทรานส์เมมเบรน (TMPRSS2) อันเป็นโปรตีนหลักในร่างกายมนุษย์ และเป็นโปรตีนที่เชื้อไวรัสโคโรนาเข้าควบคุมเพื่อบุกรุกและแพร่เชื้อใส่เซลล์ของมนุษย์

คณะนักวิจัยศึกษาเซลล์ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ที่เติบโตในห้องทดลอง และพบว่าเอ็มเอ็ม3122 สามารถปกป้องเซลล์จากความเสียหายที่เกิดจากเชื้อไวรัสฯ ได้ดีกว่ายาเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) ซึ่งได้รับอนุมัติโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (FDA) เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

ผลการทดสอบความปลอดภัยแบบเฉียบพลันพบว่าสามารถให้สารประกอบข้างต้นกับหนูทดลองในปริมาณมากเป็นเวลา 7 วัน โดยไม่พบปัญหาใหญ่แต่อย่างใด โดยคณะนักวิจัยพบว่าสารประกอบตัวนี้มีประสิทธิภาพต่อต้านเชื้อไวรัสโคโรนาของโรคซาร์ส (SARS-CoV) และเชื้อไวรัสโคโรนาของโรคเมอร์ส (MERS-CoV) เช่นกัน

“สารประกอบที่เรากำลังพัฒนานี้ป้องกันเชื้อไวรัสฯ เข้าสู่เซลล์ เรากำลังศึกษาช่วงเวลาและปริมาณที่เหมาะสมต่อการให้โมเลกุลกับหนูเพื่อปกป้องพวกมันจากโรค” เจมส์ ดับบลิว เจเน็ตกา ผู้เขียนอาวุโสและศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีและชีวฟิสิกส์โมเลกุลกล่าว “เป้าหมายของเราคือพัฒนาโมเลกุลให้กลายเป็นตัวยับยั้งที่สามารถรับประทานได้ เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการยับยั้งโรคโควิด-19”

เจเน็ตกาและคณะทำงานกำลังประสานงานกับคณะนักวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของเอ็มเอ็ม 3122 ด้านการรักษาและป้องกันโรคโควิด-19 ในสัตว์ทดลองอื่นๆ

อนึ่ง ผลการศึกษาข้างต้นได้รับการเผยแพร่ผ่านวารสารพีเอ็นเอเอส (PNAS) ของสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (11 ต.ค.) ที่ผ่านมา

ที่มา : Xinhua