คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดแบบอนุสรณ์สถานพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ สร้างครอบจุดฌาปนสถานหลังองค์พุทธมณฑลอีสานมีความสูงเทียบเท่าตึก 10 ชั้น ประยุกต์แบบของพระธาตุในกลุ่มวัฒนธรรมไทย – ลาว ทรงบัวเหลี่ยม เน้นรูปทรงเรียบง่าย แฝงคติธรรม
รองศาสตราจารย์ ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร เปิดเผยถึงรูปแบบและแนวคิดการก่อสร้างอนุสรณ์สถานพระเทพวิทยาคม หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธว่า มีรูปแบบเป็นอาคารเพื่อใช้สำหรับเป็นอนุสรณ์ในการพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพวิทยาคม เป็นสถานที่ที่รวบรวมประวัติไว้สำหรับเผยแพร่ให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้ทำการศึกษา และระลึกถึงคุณูปการของท่าน
นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการก่อสร้างอนุสรณ์สถานหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ได้มอบหมายให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกแบบเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 ใน 7 – 8 แบบ ให้คณะกรรมการฯ คัดเลือก
จนกระทั่ง สรุปเลือกรูปแบบที่เน้นอาคารที่มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมหรือกึ่งประเพณี มีลักษณะร่วมสมัย เรียบง่าย สมถะ และสันโดษ
จากนั้นได้มีการพัฒนาการออกแบบ จนกระทั่งคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบ พร้อมก่อสร้างหลังเสร็จสิ้นพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ทันที ทั้งนี้ เสาเข็มที่จะก่อสร้างได้ตอกลงยังจุดที่กำหนดเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561
สถานพระเทพวิทยาคมที่จะมีการก่อสร้างหลังเสร็จสิ้นพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธนี้ มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ความสูง 32 เมตร หรือเทียบเท่าตึก 10 ชั้น บนฐาน 8 เหลี่ยม ด้านเท่าด้านละ 9 เมตร มีซุ้มจัตุรมุข 4 ด้าน ศาลารายจำนวน 3 หลัง
โดยรอบ มีพื้นที่ใช้สอบรวม 1,000 ตรม. ตั้งอยู่บริเวณหลังองค์พระพุทธมณฑลอีสาน ห่างไปประมาณ 500 เมตร เพื่อให้คล้องจองว่าเป็นการปิดทองหลังพระ ส่วนรูปแบบ เป็นทรงบัวเหลี่ยม ที่เป็นการจำลองลักษณะของเขาพระสุเมธุตามคติไตรภูมิที่มีการประยุกต์รูปแบบให้ร่วมสมัยมากขึ้น
โดยการลดทอนการประดับตกแต่งให้เกิดความเรียบง่าย สมถะและสันโดษ ซึ่งขณะนี้ แบบแล้วเสร็จพร้อมก่อนสร้าง ซึ่งประเมินราคาความก่อสร้างรวมวัสดุมูลค่า 50 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 1 ปี