ประเด็นน่าสนใจ
- รัฐบาลเริ่มเดินหน้าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเดือนตุลาคม 2564 ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา
- การฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. มีนักเรียนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วประมาณ 150,190 ราย
- รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย วัคซีนไฟเซอร์ที่รัฐบาลนำมาฉีดให้กับเด็กนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง
วันที่ 9 ตุลาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการดำเนินการรัฐบาลเริ่มเดินหน้าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเดือนตุลาคม 2564 ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา กลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 12-18 ปี ทุกคน ผ่านสถาบันการศึกษาว่า ขณะนี้มีผู้แจ้งความประสงค์เข้ารับการฉีดแล้วประมาณ 3.8 ล้านคน จากตัวเลขกลุ่มเป้าหมายมีอยู่ประมาณ 5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71 และคาดว่ามีตัวเลขผู้แจ้งความประสงค์ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยการฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. มีนักเรียนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วประมาณ 150,190 ราย ร้อยละ 3.3 และฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้วประมาณ 1,825 ราย กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข จะเดินหน้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่เด็ก/นักเรียน อย่างต่อเนื่อง
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวผ่านสื่อต่าง ๆ และทางโซเชียลสื่อออนไลน์ เช่น ในแพลตฟอร์ม TikTok เด็กบางกลุ่มได้ออกมาแสดงความกังวลต่อผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ขอให้ความเชื่อมั่นว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่รัฐบาลนำมาฉีดให้กับเด็กนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงได้มาตรฐานระดับสากลและทั่วโลกยอมรับ โดยได้ผ่านการตรวจสอบและอนุมัติรับรองคุณภาพเรียบร้อยแล้วทั้งจากองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ (FDA)
รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขของไทยด้วย แม้การฉีดวัคซีนไฟเซอร์จะมีผลข้างเคียงในลักษณะต่าง ๆ อยู่บ้าง ทั้งผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ หนาวสั่น รวมถึงผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่จากข้อมูลของคณะอนุกรรมการด้านโรคโควิด-19
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับโลกด้านความปลอดภัยของวัคซีนประจำองค์การอนามัยโลก (GACVS) ระบุว่า วัคซีนชนิด mRNA มีประโยชน์ในการป้องกันโรคโควิด-19 มากกว่าความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตจาก COVID-19 ได้
โดยหลายประเทศได้เดินหน้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่เด็กไปก่อนหน้านี้แล้ว อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สเปน นอร์เวย์ เป็นต้น ทางบริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer – BioNTech) ยังได้ยื่นคำขอต่อองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) อย่างเป็นทางการแล้วเพื่อให้อนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด-19 กับเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปี เป็นการฉุกเฉิน หากผ่านการรับรองของ FDA คาดจะสามารถใช้ได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้
“การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กนักเรียนมีความสำคัญมาก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันของสังคมให้เข้มแข็งมากขึ้นและให้เด็กได้กลับไปเรียนในรูปแบบปกติโดยเร็ว พร้อมเตรียมรับการเปิดภาคเรียนเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ ยังพิจารณาให้มีการตรวจ ATK (Antigen Test Kit) แบบสุ่มตัวอย่างประมาณ 10-15% ของจำนวนนักเรียนในทุก ๆ 2 สัปดาห์
ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจกับนักเรียนในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ทั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังกำชับให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ข้อมูลสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประสิทธิภาพและอักตราการเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีน เพื่อให้นักเรียนคลายความกังวลจากผลที่เกิดขึ้นด้วย” นางสาวรัชดา กล่าว