ชุดตรวจ ATK สาธารณุสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช โควิด-19

สสจ.นครศรีธรรมราช ชี้ ATK ยี่ห้อ เล่อปู๋ ไม่เหมาะกับการตรวจคนเสี่ยงสูง

ก่อนหน้านี้ สสจ.นครศรีธรรมราช ได้สั่งการห้ามทุกโรงพยาบาลใช้ชุด ATK ยี่ห้อ เล่อปู๋ กับกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

Home / NEWS / สสจ.นครศรีธรรมราช ชี้ ATK ยี่ห้อ เล่อปู๋ ไม่เหมาะกับการตรวจคนเสี่ยงสูง

ประเด็นน่าสนใจ

  • ก่อนหน้านี้ สสจ.นครศรีธรรมราช ได้สั่งการห้ามทุกโรงพยาบาลใช้ชุด ATK ยี่ห้อ เล่อปู๋ กับกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
  • หลังพบว่า มีสัดส่วนความผิดพลาดจากการตรวจเชื้อสูงทั้งชนิดการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ
  • ชี้ระบบสาธารณสุขจะต้องเอาตัวมาตรวจด้วยเครื่องมือคุณภาพสูงเพื่อวินิจฉัยสู่การรักษาต่อไป

วันนี้ (5 ต.ค.64) นายแพทย์จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณุสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมฯ ในประเด็นที่ได้สั่งการห้ามทุกโรงพยาบาลใช้ชุด Antigen test kit (ATK) ยี่ห้อ เล่อปู๋ (Lepu) กับกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ โควิด 19 หลังพบว่า มีสัดส่วนความผิดพลาดจากการตรวจเชื้อสูงทั้งชนิดการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ โดยเน้นใช้เครื่องมือระดับโปรเท่านั้น

ส่วนที่ได้รับแจกจ่ายจาก สป.สช.ที่จัดส่งทุกโรงพยาบาลในจังหวัดรวม 9 หมื่นชุดมานั้นให้ใช้สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำหรือประชาชนที่อยากตรวจ
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ชุด Antigen test kit (ATK) ยี่ห้อ เล่อปู๋ (Lepu) ไม่ได้เป็น ATK ที่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาว่าเอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดย ATK ตัวนี้ใช้กับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำได้ แต่ไม่สามารถใช้กับกลุ่มที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง

ซึ่งระบบสาธารณสุขจะต้องเอาตัวมาตรวจด้วยเครื่องมือคุณภาพสูงเพื่อวินิจฉัยสู่การรักษาต่อไป พร้อมกันนี้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังยืนยันตัวเลขด้วยว่ามีการนำ ชุด Antigen test kit (ATK) ชนิดนี้มาตรวจชาวบ้าน ในพื้นที่อำเภอทุ่งใหญ่ จำนวน 1 พันราย พบระบุติดเชื้อ 187 ราย แต่เมื่อนำเอาเข้าระบบ PCR ยืนยันพบผลบวกแค่ 92 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราความผิดพลาดที่สูงมาก

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชวันนี้(5 ต.ค.64) พบผู้ติดเชื้อใน 18 อำเภอ จากจำนวน 23 อำเภอ รวม 259 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยภายในจังหวัด จำนวน 257 ราย ผู้ป่วยที่กลับมารักษาตัวที่บ้านเกิด จำนวน 2 ราย ส่วนข้อมูลตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก มีจำนวนทั้งสิ้น 498,984 โดส ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มสอง จำนวน 312,936 โดส และเข็มสาม จำนวน 12,823 โดส มีจำนวนเตียงรักษาผู้ป่วยทั้งหมด 7,458 เตียง จำนวนครองเตียง 5,976 เตียง เตียงว่างจำนวน 1,482 เตียง