กรมชลประทาน น้ำท่วม สถานการณ์น้ำท่วม

ชป. เผยน้ำเหนือยังไหลหลาก ยันไม่กระทบพื้นที่ชั้นใน กทม.-ปริมณฑล

กรมชลประทานเผย น้ำเหนือยังไหลหลาก ส่งผลเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ยันไม่กระทบพื้นที่ชั้นในกทม.และปริมณฑล

Home / NEWS / ชป. เผยน้ำเหนือยังไหลหลาก ยันไม่กระทบพื้นที่ชั้นใน กทม.-ปริมณฑล

ประเด็นน่าสนใจ

  • กรมชลประทานเผย น้ำเหนือยังไหลหลาก ส่งผลเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ยันไม่กระทบพื้นที่ชั้นในกทม.และปริมณฑล
  • ต้องระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในอัตรา 900 – 1,200 ลบ.ม./วินาที
  • จะทำให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
  • ส่วนด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะเพิ่มสูงขึ้น จะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 2.30 – 2.80 เมตร ในช่วงวันที่ 1 – 5 ตุลาคม 2564

จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 22 – 24 กันยายน 2564 และในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 2 ตุลาคม 2564 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ตอนบน จะส่งผลให้เกิดน้ำหลาก ในพื้นที่ดังกล่าวได้ นั้น

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและลุ่มน้ำป่าสัก คาดว่ามีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ในลุ่มน้ำปิงจากบริเวณคลองสวนหมาก อำเภอเมืองกำแพงเพชร 130 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) และคลองขลุง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร 84 ลบ.ม./วินาที ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ ก่อนไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ ประมาณ 2,600 – 2,800 ลบ.ม./วินาที และมีปริมาณน้ำหลากจากแม่น้ำสะแกกรังไหลผ่านสถานีวัดน้ำ Ct.19 จังหวัดอุทัยธานี ในอัตรา 400 ลบ.ม./วินาที ประเมินว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตรา 3,100 ลบ.ม./วินาที

สำหรับการบริหารจัดการน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ร่วมกับการตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้งสองฝั่งและพื้นที่ลุ่มต่ำ จะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 2,700 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพความปลอดภัยและความมั่นคงของเขื่อน

จึงจำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในอัตรา 900 – 1,200 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (C.29A) อยู่ในอัตราประมาณ 3,000 – 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจุบันประมาณ 1.20 – 2.40 เมตร และด้านท้ายเขื่อนพระรามหก จะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 2.30 – 2.80 เมตร ในช่วงวันที่ 1 – 5 ตุลาคม 2564 จะส่งผลกระทบกับพื้นที่ ดังนี้

  • จังหวัดชัยนาท แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตำบลโพนางดำออก อำเภอสรรพยา
  • จังหวัดสิงห์บุรี แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเสือข้าม วัดสิงห์ อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี
  • จังหวัดอ่างทอง คลองโผงเผง และแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดไชโย อำเภอไชโย และอำเภอป่าโมก
  • จังหวัดลพบุรี ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก บริเวณอำเภอพัฒนานิคม
  • จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณคลองบางบาล และริมแม่น้ำน้อย บริเวณตำบลหัวเวียง
    อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอหักไห่ และริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก อำเภอท่าเรือ และอำเภอนครหลวง อำเภอพระนครศรีอยุธยาจรดแม่น้ำเจ้าพระยา
  • จังหวัดสระบุรี ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก อำเภอวังม่วง อำเภอแก่งคอย อำเภอเมือง อำเภอเสาไห้ และอำเภอบ้านหมอ
  • จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนนทบุรี บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
  • กรุงเทพมหานคร แนวคันกั้นน้ำบริเวณพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ กรมชลประทาน ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยงและพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ พร้อมทั้งได้ประสานแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ด้านท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระรามหก เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

รวมทั้งผู้ประกอบกิจการ ในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาให้ทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งทำการปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมทั้งเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างทันต่อเหตุการณ์

ที่มา : กรมชลประทาน